กึ้ง เฉลิมชัย ผู้พาศิลปินมาให้เหล่าแฟนคลับได้กรี๊ด

Alternative Textaccount_circle
event

กึ้ง เฉลิมชัย มหากิจศิริ นักธุรกิจหนุ่มและทายาทนักธุรกิจชื่อดัง เขาคนนี้เคยผ่านงานในวงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เริ่มต้นจาก 8 ปีที่แล้ว ที่พาทีมงานและนักแสดงไทยไปถ่ายทำละครในเกาหลี มาวันนี้เขาผันตัวเป็นผู้นำพาศิลปินที่เหล่าแฟนคลับรอพบหน้ามาให้เจอในประเทศไทย

กึ้ง เฉลิมชัย

“จุดเริ่มต้นของบริษัทโฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์มาจากการทำละครเรื่อง ใต้ฟ้าตะวันเดียว ที่มาริโอ้ เมาเร่อ แสดงร่วมกับพระเอกเกาหลี ฟีดแบ็กจากครั้งนั้นทำให้บริษัทที่เกาหลีได้รู้ว่าเราทำงานด้านเอนเตอร์เทนและดูแลศิลปินได้ดี หลังจากนั้นเลยมีคนที่ทำงานด้านนี้โทร.มาที่บริษัท ถามว่าสนใจร่วมงานกับเขาไหม และให้เราดูแลตอนเขาพาศิลปินเกาหลีมาเมืองไทย ทำแฟนมีตติ้ง ทำคอนเสิร์ตให้ ต่อยอดมาเรื่อยๆ ”

“งานแรกถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นงานแฟนมีตติ้งลีมินโฮ หลังจากนั้นก็เป็นคอนเสิร์ตเจวายเจ ทำทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ผมเป็นประเภท ‘เอ้าลุย’ การทำงานด้านเอนเตอร์เทนเป็นแพสชั่นของผม การได้เห็นรอยยิ้มของแฟนคลับทำให้รู้สึกว่าการที่เราทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมามันสร้างความสุขให้คนได้ขนาดนี้เลยหรือ แต่ก่อนแฟนคลับศิลปินเกาหลีบางคนถึงกับบินไปเกาหลี ไปดูสถานที่ที่ศิลปินไปบ่อยๆ ไปรอหน้าตึกหรือตรงนั้นตรงนี้ ใช้ความพยายามมหาศาลในการไปเจอคนที่เขารัก แต่วันหนึ่งเราพาคนที่เขารักมาที่นี่ ทำให้เขามีรอยยิ้ม งานด้านนี้จึงไม่ใช่แค่การทำธุรกิจอย่างเดียว”

“ช่วงแรกเราก็โดนว่าเยอะแม้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่เรานำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข ช่วงแรกที่ทำเราขาดทุนด้วย แต่อย่างที่บอกว่างานด้านเอนเตอร์เทนเป็นความชอบส่วนตัวและความสนุกของผม ไม่ใช่ธุรกิจหลัก พอขาดทุนก็ต้องใช้เงินตัวเองซัพพอร์ต ผ่านไปสองสามปีถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มมีกำไร ศิลปินที่มามีทั้งเราเป็นคนเลือกและเอเจนซี่เสนอเข้ามา ช่วงแรกก็ลองผิดลองถูก ศิลปินบางคนดังที่เกาหลีแต่ยังไม่ดังที่ไทย ที่คาดว่าต้องได้รายได้ขนาดนี้แต่ขาดทุนแปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็มี ถือเป็นค่าครูเพื่อให้ได้ความรู้กลับมา หลังๆ เรารู้มากขึ้น มีพูดคุยกับแฟนคลับ ติดต่อไปที่แฟนเพจของศิลปินคนนั้นๆ ถามถึงสิ่งที่เขาต้องการแล้วเสนองานที่ใกล้กับสิ่งที่เขาคาดหวัง ‘ช่วยพาเขาไปขี่ช้างและไปกินนี่หน่อย เขาชอบกิน’ เราก็ทำให้ พอทำให้ เขาก็รู้สึกว่า เราดูแลคนที่เขารักได้ดี และงานก็ประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ ”

“ทั้งนี้คอมเมนต์จากทีมงานและตัวศิลปินก็มี เขาคาดหวังว่าเราต้องดูแลแบบนั้นแบบนี้ เช่น ต้องมีอาหารเตรียมให้ทีมงานเท่านี้ บางอย่างที่เขาขอแต่เราไม่มีก็ต้องไปซื้อ อยู่ดีๆ ศิลปินรีเควสต์ว่าขอทำแบบนี้ได้ไหมขึ้นมาก็มี การบริหารหน้างาน การต่อรอง และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอด แต่พอผ่านงานมากเข้าก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างการไฮทัชบางศิลปินไม่ทำให้ เราก็ต้องบอกว่าไม่ได้ เพราะประเทศเราเรื่องนี้ถือว่าสำคัญ ต้องบอกให้เขารู้ว่า มันไม่ได้ดีแค่กับบริษัทผม แต่ดีกับตัวคุณด้วย ‘ถ้าทำให้ แฟนคลับก็จะยิ่งรักคุณมากขึ้น’ หลังๆ เขาเริ่มเข้าใจ บางครั้งตัวศิลปินไม่มีอะไรหรอก แต่ผู้จัดการและทีมงานห้าม บางเรื่องก็เข้าใจได้ อย่างการถ่ายรูป บางทีถ่ายแล้วไปติดน้ำดื่ม ทางเขามองเป็นเรื่องโฆษณา ทุกรูปที่ออกไปคือคอมเมอร์เชียลหมด การถ่ายรูปคู่สมัยก่อนคิดเป็นหลักล้าน แม้แต่ผมเองก็ถ่ายไม่ได้ แฟนคลับบางคนก็หวงศิลปิน แต่หลังๆ ก็บอกว่า ‘สำหรับพี่กึ้งและครอบครัวของพี่กึ้งไม่เป็นไร’ ”

“ส่วนเรื่องการจองบัตรที่ถูกยกมาพูดถึง จุดนี้ต้องมีคนที่ทั้งจองได้และไม่ได้อยู่แล้ว เพราะที่นั่งมีจำนวนจำกัด ขึ้นอยู่ที่ความช้าเร็วในการจอง บางคนไปรอหน้าเคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตตั้งแต่ตีห้าหรือสองทุ่มทั้งที่บัตรเปิดจองตอนสิบโมง ผมเคยบอกทีมงานไปดูแลเพราะเป็นห่วง เขาก็บอกว่า ‘ไม่เป็นไรค่ะ มากันหลายคน’ บางคนทำเยอะกว่าคนทั่วไปกว่าจะได้บัตรมา หรือบางครั้งระบบล่มเราก็โดนว่า แต่ก็นำมาปรับปรุงจนตอนนี้ลงตัวขึ้น”

“ประสบการณ์ในการทำงานทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ก่อนตื่นเต้นตกใจทำอะไรไม่ถูก กลัวเขาไม่พอใจ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าถ้าทีมของศิลปินพูดแบบนี้เราต้องแมเนจแบบไหน การจัดงานที่มีเรื่องเล่าหน่อยน่าจะเป็นคอนเสิร์ตเจวายเจ เราต้องไปซื้อของมาจัดงานเอง เขาบอกมาว่าของตั้งแต่ชิ้นที่หนึ่งถึงสามสิบสเป็คต้องแบบนี้เท่านั้น เราก็ทำตามเพราะยังต่อรองไม่เป็น อย่างเรื่องไฮดรอลิกที่เรามีคือแบบที่ค่อยๆ ยกตัวศิลปินออกมา แต่เขาไม่เอา จะเอาแบบเปิดตัวแล้วศิลปินเด้งขึ้นมาเลย พอถามเขาว่ามันจำเป็นต้องใช้ขนาดไหน เขาบอกใช้แค่ตอนเปิดตัว 4 วินาที ‘มันเป็นสิ่งที่ต้องมี และเราทำแบบนี้ในทุกประเทศ’ แต่ราคาตัวละหนึ่งล้านบาท ใช้ทั้งหมด 3 ตัว ต้องนำเข้าจากสิงค์โปร์นะ เราก็ต้องยอม เขาพูดอะไรเราเชื่อหมด กลัวเขาโกรธแล้วไม่มา แล้วช่วงนั้นขายสปอนเซอร์ยังไม่เป็น ใช้เงินตัวเองทั้งนั้น เทียบกับตอนนี้เวลาเขาบอกอะไรมาถ้าไม่มีเราก็กล้าบอกว่าไม่มี แล้วนำเสนอตัวเลือกอื่นที่คุณภาพไม่ต่างกัน แฟนคลับเขาติดตามงานของศิลปิน เขารู้ว่างานของศิลปินเขาเป็นแบบไหน ถ้าลดเกรดเรารู้ว่าเขาไม่ยอม แต่เราไม่ได้ลดเกรด แค่ใช้ของที่สามารถใช้งานได้ในคอสต์ที่ทำได้และทำออกมาดีไม่ต่างกัน”

“การเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยนี้รวดเร็ว จะบอกว่ารู้แล้วจบมันไม่ใช่ ความดังของศิลปินมีการเปลี่ยนแปลงตลอด วันนี้ดังอีกสองปีอาจจะไม่ดัง หรืออาจจะเข้ากรมทหารไปแล้ว เราต้องมองแบบลองเทอม เราพยายามสร้างความสัมพันธ์กับทุกบริษัท แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องกลับมาจุดเดิมคือการสร้างรอยยิ้มให้แฟนคลับ ถึงตอนนี้การติลดลงเปลี่ยนเป็นคำชมมากขึ้น เมื่อเราคิดว่ารอยยิ้มของแฟนคลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นครับ”

ความประทับใจหนึ่งที่คุณกึ้งบอกว่าจำได้ดี คือการพาศิลปินไปเซอร์ไพร้ส์แฟนคลับคนหนึ่งที่ป่วย “เราทราบว่าเขาเป็นแฟนคลับ วง CNBLUE จึงพาศิลปินไปหาเขาที่โรงแรมเพื่อนำของที่ระลึกไปให้ วันนั้นทางศิลปินได้ถอดกำไลให้ด้วย ทำให้ตัวแทนแฟนคลับประทับใจมาก น่าเสียใจที่ตอนนี้แฟนคลับท่านนี้ได้เสียชีวิตไปแล้วครับ”

 

ภาพจาก : JoJoJae ,สุเมธ วิวัฒน์วิชา ,Pannawat

 

เรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ

Young at Heart… ต้อม พลวัฒน์

เปิดใจ ก้อง สหรัถ หนุ่ม เท่ ดูดี มีเสน่ห์

บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ ผู้ชาย หล่อ เท่ เนี๊ยบ มีสไตล์

หนุ่ม ศรราม พระเอกในดวงใจ

โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ชายน่ารักกับแง่มุมที่อาจคาดไม่ถึง

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up