หน่อง ภัทร์ ฉัตรบริรักษ์ ขอเเท็กทีมเรียนรู้ความพอเพียง

Alternative Textaccount_circle
event

หน่อง-ภัทร ฉัตรบริรักษ์ เรียนรู้สังคมเกื้อกูลแบบเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมพลิกฟื้นชุมชนปากพนังหลังน้ำท่วม มหาอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อนสร้างความเสียหายให้หลายพื้นที่ในภาคใต้ หนึ่งในนั้นคือชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไม่เพียงต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำนานนับเดือน แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้งที่มาเยือนทันทีหลังน้ำลด ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน แต่เมื่อ หน่อง-ธนา และภัทร ฉัตรบริรักษ์ อาสาลงพื้นที่กลับพบว่า สังคมเกื้อกูลแบบเศรษฐกิจพอเพียงของที่นี่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและต่อสู้ทุกปัญหาได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยความร่วมมืออันเหนียวแน่นของ บ้าน-วัด-โรงเรียน

 

เมื่อรู้ว่าปีนี้เป็นอีกปีที่จะได้มีโอกาสทำภารกิจคนหล่อขอทำดี หน่อง-ธนา และภัทร ฉัตรบริรักษ์ ก็เอ่ยปากอยากไปร่วมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและจิตใจของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้เมื่อปลายปี 2559 โดยเลือกบ้านวัดโบสถ์ ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเป้าหมาย เพราะน้ำท่วมขังอยู่นานและเพิ่งแห้งสนิทเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง

ผอ. เจริญกล่าวต้อนรับ
ทักทายกันเบาๆ ก่อนออกเเรง3
ระดมพลทำความสะอาด 1-2-3 เเชะ

 

ปรับปรุงห้องสมุด-ห้องพยาบาล เสริมสร้างความรู้และสุขภาพที่ดี  

“โอ้โห!” คือคำแรกที่ได้ยินจากปากของหน่องและภัทร เมื่อเห็นสภาพห้องสมุดของโรงเรียนวัดโบสถ์ โรงเรียนประจำหมู่บ้าน เพราะภาพตรงหน้าคือชั้นหนังสือที่ผุพัง พื้นไม้บวมและเต็มไปด้วยคราบที่เกิดจากน้ำท่วม หนังสือส่วนใหญ่ถึงจะยังเป็นรูปเล่มแต่ก็เสียหายจนแทบจะเปิดอ่านไม่ได้

ฮึบๆ ๆ ยกโต๊ะอันเก่าออกไป

ผอ.เจริญ ทองชู และคุณครูสมศักดิ์ เพ็งสุวรรณ เล่าให้ทั้งสองคนและทีมงานฟังว่า “น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2559 แม้พื้นที่ปากพนังจะไม่ได้ท่วมสูงเหมือนที่อื่น แต่โรงเรียนก็แช่อยู่ในน้ำนานกว่าหนึ่งเดือน ทำให้หลายส่วนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะห้องสมุดซึ่งอยู่ชั้นล่างของอาคาร ที่ต้องยอมปล่อยให้จมเพราะน้ำมาเร็วเกินกว่าจะย้ายเก็บทัน เมื่อน้ำลดก็ไม่มีงบประมาณซ่อมแซมหรือซื้อใหม่ เด็กๆ จึงต้องอาศัยห้องสมุดที่ทรุดโทรมและหนังสือที่บวมชื้นค้นคว้าหาความรู้กันไปก่อน”

ใส่หน้ากากกันฝุ่นกันหน่อยนะค้า
กวาดพื้นเป็นหน้าที่ของนักเรียนหญิง
งานถูเด็กชายหน่องรับผิดชอบเองคร้าบ

ได้ยินดังนั้นหน่องและภัทรจึงไม่รอช้า ชวนน้องๆ นักเรียนลงมือปรับโฉมมุมอ่านหนังสือทันที เริ่มจากทำความสะอาดพื้นให้กลับมาเหมือนใหม่ แล้วเปลี่ยนชั้นที่ผุพังโยกคลอนจนน่ากลัวว่าจะล้มทับเด็กๆ เป็นชั้นไม้สีสันสดใสที่ทาง Index จัดหามาให้พร้อมโต๊ะอ่านหนังสือ ก่อนจะช่วยกันคัดแยกหนังสือเก่าที่ยังใช้งานได้มาขึ้นชั้นรวมกับหนังสือใหม่จากร้านนายอินทร์ จนในที่สุดห้องสมุดโฉมใหม่ก็เสร็จเรียบร้อย

เอ้า! ขนตู้ใหม่จาก Index เข้ามา
หน่องหอบหนังสือดีๆ จากร้านนายอินทร์ มาให้น้องๆ อ่านกันเพียบ

นอกจากความรู้ เรื่องสุขภาพก็สำคัญ เมื่อปรับปรุงห้องสมุดแล้ว หน่อง-ภัทรก็ย้ายไปต่อที่ห้องพยาบาล นำตู้ยาใบใหม่ที่มียาสามัญประจำบ้านและอุปกรณ์รักษาพยาบาลเบื้องต้นของ Nexcare ไปส่งมอบให้ทางโรงเรียน ทำเอาบรรดาเด็กน้อยและคุณครูยิ้มไม่หุบกับห้องสมุดและสิ่งใหม่ๆ ในห้องพยาบาลที่สองคนหล่อตั้งใจมอบให้

ร่วมช่วยกันจัดตู้ยาสามัญประจำบ้านกันใหม่
โฉมใหม่ของห้องสมุดโรงเรียนวัดโบสถ์ สวยกริบ น่านั่งอ่านหนังสือจริงๆ ฮะ

ฟื้นฟูแปลงผักสวนครัว แหล่งอาหารกลางวันของโรงเรียน 

โรงเรียนวัดโบสถ์เป็นโรงเรียนระดับประถมขนาดเล็ก สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 มีนักเรียน  67 คน ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนวัดโบสถ์เองรวมกับนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเกาะน้อยที่กำลังจะปิดตัว ส่วนคุณครูที่รับผิดชอบการสอนมีทั้งหมด  5 คน โดยปกติแล้วทางโรงเรียนจะปลูกผักสวนครัวอย่างมะเขือ มะนาว คะน้า ผักบุ้ง ไว้ทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน แต่เมื่อน้ำท่วมใหญ่แปลงผักที่เคยงามก็แปลสภาพกลายเป็นผืนดินเปล่า พืชผักหายไปกับน้ำจนหมด หน่องและภัทรจึงตั้งใจจะช่วยฟื้นฟูแปลงผักให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ช่วงนั้นเป็นฤดูแล้ง ประกอบกับโรงเรียนกำลังจะปิดภาคเรียน ทั้งสองจึงทำได้เพียงออกแรงร่วมกับน้องๆ นักเรียนปรับสภาพแปลงเตรียมไว้ให้พร้อมปลูกผักหลังเปิดเทอม

และเมื่อไม่มีวัตถุดิบจากแปลง วันนั้นทั้งคู่จึงร่วมกับชาวบ้านที่ตั้งใจมาช่วยงานเตรียมอาหารกลางวันมื้อพิเศษเลี้ยงเด็กๆ แทน เป็นข้าวหมกไก่หม้อใหญ่ที่เติมได้ไม่อั้น กับน้ำใบเตยหอมหวานและข้าวต้มมัดเจ้าเด็ด สร้างความสุขเล็กๆ ให้กับเด็กน้อยก่อนปิดเทอม

ออกเเดดสู้งานหนัก ปรับปรุงเเปลงผักสวนครัว ไว้ปลูกผักทำอาหารกลางวันให้น้องๆ
รอด้วยใจจ่ดใจจ่อ น่ากินนขนาดนี้ห่อกลับบ้านด้วยได้ไหมครับ
อยากได้กี่ทัพพีบอกพี่มาเลยน้อง
ข้าวต้มมัดคุณหน่อง

อยู่อย่างยั่งยืนด้วยการเกษตรผสมผสาน

ต้นกล้าส้มโอทับทิมเเห่งสยาม ของอร่อยชื่อดังเเห่งปากผนัง

เสร็จจากภารกิจผู้ให้ในโรงเรียนสองหนุ่มก็เปลี่ยนสถานะไปเป็นนักเรียน ด้วยการเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ของหมู่บ้านวัดโบสถ์ ซึ่งคุณพวงเพ็ญ จันทร์งาม ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่บ้านวัดโบสถ์บอกกับหน่อง-ภัทรว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้ทำนาปลูกข้าวกันแทบจะทุกบ้าน แต่เมื่อน้ำท่วมและมีปัญหาภัยแล้ง หลายครอบครัวจึงเปลี่ยนไปปลูกปาล์มแทน วิถีเกษตรแบบดั้งเดิมของเราจึงหายไป กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่จึงรวมตัวกันทำโครงการ ต้นแบบชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริการเกษตรแบบผสมผสานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เพื่อฟื้นฟูให้ชุมชนของเรากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม”

จริงจังตั้งใจ ร่วมกันปลูกส้มโอทับทิมสยามต้นปฐมฤกษ์ ของเเปลงสาธิตเกษตรกรรมธรรมชาติ
โตเร็วๆ ลูกดกๆ นะเะอ อีกสองปีหน่องกับภัทร์จะกลับมาไปชิมส้มโอหวานๆ

ทางกลุ่มจึงรวมตัวกันทำแปลงสาธิตขึ้นในพื้นที่ขนาด 10 ไร่ ซึ่งเพิ่งเริ่มลงแรงทำให้เป็นรูปเป็นร่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยจะจัดสรรปันส่วนพื้นที่สำหรับปลูกข้าว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักผลไม้หลากหลาย และเพื่อเป็นการประเดิมเปิดแปลงสาธิต กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่บ้านวัดโบสถ์จึงชวนสองหนุ่มรวมถึงคณะครูโรงเรียนวัดโบสถ์ไปชมพื้นที่และปลูกสมโอทับทิมสยาม ส้มโอชื่อดังของปากพนัง เป็นไม้ยืนต้นต้นแรกของแปลง งานนี้แม้ดินจะแข็ง แดดจะร้อนแรงขนาดไหนแต่ภัทรและหน่องก็ตั้งใจขุดหลุมปลูกส้มโอแบบไม่หวั่น พร้อมกับรับปากพี่ๆ น้องๆ เกษตรกรว่า อีกสองปีข้างหน้าเมื่อส้มโอต้นนี้มีลูกให้กินได้ จะกลับไปชิมผลผลิตของตัวเองแน่นอน

 

จากพริกต้นเล็กๆ สู่พริกแกงรสแซบ สร้างรายได้แบบพอเพียงให้ชุมชน 

ความพอเพียงของชุมชนบ้านวัดโบสถ์สะท้อนออกมาในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนคือการทำพริกแกงใต้สำเร็จรูป ซึ่งเป็นการแปลรูปผลผลิตของเกษตรกรในหมู่บ้านที่ปลูกพริกกันอยู่แล้วให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่สำคัญคือกลุ่มเกษตรกรของที่นี่ทำการเกษตรแบบปลอดสาร ดังนั้นเมื่อพริกปลอดสารพิษ เครื่องแกงของที่นี่จึงสะอาดและปลอดภัย

เริงร่าท้าเเดดไปปลูกพริกกันเร้วว

ภารกิจสุดท้ายของหน่อง-ภัทร ณ บ้านวัดโบสถ์ จึงเป็นการเรียนรู้กระบวนการผลิตเครื่องแกง ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตั้งแต่ต้นทางด้วยการลงมือปลูกพริกเอง ก่อนจะเก็บไปบดรวมกับเครื่องอื่นๆ ทั้งหอมแดง ขมิ้น เกลือ ฯลฯ จนออกมาเป็นเครื่องแกงรสเข้มข้น ที่กล้าการันตีว่าอร่อยเด็ดจริงเพราะทั้งสองคนชิมมาแล้วแบบสดๆ ไม่ผ่านการปรุงใดๆ

หลังหนึ่งวันในปากพนังของสองหนุ่มผ่านไป หน่องและภัทรบอกกับสุดฯ ว่า นอกจากจะมีโอกาสเป็นผู้ให้แล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นชีวิตที่พอเพียงในสังคมที่เกื้อกูลกันระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน หรือที่เรียกว่า ‘บวร’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะเห็นได้ว่าในทุกกิจกรรมของชาวบ้านจะได้รับความร่วมมือจากวัดและโรงเรียน และในทุกงานของโรงเรียนก็ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านและวัดเป็นอย่างดี จนทำให้หมู่บ้านวัดโบสถ์เป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็ง ดังนั้นถึงแม้น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อม แต่ก็ไม่สามารถทลายความเข้มแข็งของชุมชนที่เหนียวแน่นของที่นี่ไม่ได้เลย

เรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ 

5 IG หนุ่มหล่อ ไม่ฟอลถือว่าพลาด!!

ฌอห์ณ สวมวิญญาณครูในภารกิจคนหล่อขอทำดีปี 9

สุดสัปดาห์คนหล่อขอทำดี ปี 9 : เจมส์จิ พารีดนมวัวสาว

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up