หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ละครฟอร์มยักษ์ กับตัวละครจริงในประวัติศาสตร์

Alternative Textaccount_circle
event

ใกล้จะลงจอให้ได้ดูกันเต็มทีแล้วกับละครเรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ละครอิงประวัติศาสตร์อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ยิ่งได้รู้ว่า บริษัททีวีซีน และทีมงานที่เคยสร้างละครเรื่อง ข้าบดินทร์ มาเป็นทีมที่สร้างละครเรื่องนี้ ยิ่งทำให้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก ทั้งตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ ยังมีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ด้วย

 

เปิดตัวละครจริงตามประวัติศาสตร์ จาก หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

 

หนึ่งด้าวฟ้าเดียวเป็นเรื่องราวเหตุการณ์อิงประวัติศาสตร์ ในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนและหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังนั้นจึงมีตัวละครในประวัติศาสตร์มากมายมาเกี่ยวข้อง เช่น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รับบทโดย อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์

พระองค์มีเชื้อสายจีน พระนามเดิมคือ เจิ้งจ้าว (แต้ซิน ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง

เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตก และกลับมาเป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ในอีก 7 เดือนถัดมา พระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี จึงได้พระนามว่า “พระเจ้ากรุงธนบุรี” และรวบรวมแผ่นดินให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

 

พระเจ้ามังระ รับบทโดย เฟิร์ส เอกพงศ์ จงเกษกรณ์

เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในจำนวน 6 พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์อลองพญา ในปี พ.ศ. 2306 พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าอลองพญาออกรบตั้งแต่อายุ 15 ปี จนอายุ 17 ปี ก็สามารถเป็นผู้นำทัพเข้ายึดกรุงอังวะจากทหารมอญทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่ามากได้อย่างน่าประหลาดใจ ครั้นอายุ 20 ก็ช่วยพระเจ้าอลองพญารวมแผ่นดินสถาปนาราชวงค์คองบองได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้เป็นผู้ติดตามพระราชบิดามาทำสงครามกับอยุธยาในการบุกครั้งแรกด้วย

โดยในพงศาวดารของฝั่งพม่าได้กล่าวถึงราชบุตรมังระว่า เป็นผู้เตือนพระบิดาคือพระเจ้าอลองพญาว่า การบุกคราวนี้ยังไม่พร้อมพอที่จะเอาชัยชนะต่อกรุงศรีอยุธยาที่มีปราการธรรมชาติระดับนี้ได้ ซึ่งการณ์ก็เป็นไปดังนั้น และพระองค์ยังต้องเสียพระราชบิดาไปในศึกคราวนี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2306 หลังจากขึ้นครองราชย์ พระองค์ปรารภในที่ประชุมขุนนางว่า “อยุธยาไม่เคยแพ้อย่างราบคาบมาก่อน” พระองค์สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดา ด้วยการส่งเนเมียวสีหบดีเข้ามากวาดต้อนผู้คนและกำลังพลจากหัวเมืองทางเหนือก่อนในปี พ.ศ. 2307 และได้ส่งทัพจากทางใต้คือมังมหานรธาเข้ามาเสริมช่วยอีกทัพหนึ่ง ทั้ง 2 ทัพได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 1 ปีกับ 2 เดือน สามารถเข้าตีพระนครได้เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

 

เจ้าจอมเพ็ญ รับบทโดย น้ำผึ้ง ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์

หรือตามประวัติศาสตร์คือเจ้าจอมเพ็ง และมีน้องสาวอีกหนึ่งคนชื่อเจ้าจอมแมน สองพระสนมเอกของพระเจ้าเอกทัศ เป็นสนมมาตั้งแต่พระเจ้าเอกทัศยังไม่ขึ้นครองราชย์เสียอีก และว่ากันว่าพระเจ้าเอกทัศทรงมีความรักใคร่ในตัวเจ้าจอมเพ็งมากที่สุด และเลื่อนยศให้กับพี่น้องของเจ้าจอมเพ็งโดยที่ไม่ต้องไต่บรรดาศักดิ์

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศห้ามไม่ให้พระเจ้าตากยิงปืนใหญ่เพื่อสู้รบกับพม่า เนื่องด้วยกลัวพระสนมจะหูแตก มีการคาดเดาว่า พระสนมตามพงศาวดารนั่นคือเจ้าจอมเพ็ง

 

สมเด็จพระอัครมเหสี กรมขุนวิมลภักดี (พระองค์เจ้าแมงเม่า) รับบทโดย แหม่ม จิตหรา สุขพัฒน์

มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าแมงเม่า เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ โดยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้สึกพระองค์จากการเป็นชี นำมาถวายเป็นบาทบริจาริกา ต่อมาจึงทรงยกเจ้าแมงเม่าเป็นพระอัครมเหสี พระนางมีบทบาททางการเมืองระดับหนึ่ง และภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ถูกกวาดต้อนไปประทับ ณ พระราชวังหลวงอังวะจนกระทั่งสวรรคต

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

 

พระยาพิชัย รับบทโดย ก็อต จิรายุ ตันตระกูล

ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ตามลำดับ ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

 

พระยาพลเทพ รับบทโดย ต้น จักรกฤษณ์ อำมรัตน์

ตามประวัติศาสตร์คือเป็นขุนนางชั่วที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยติดต่อให้ข้อมูลลับทางการทหารกับชาวอังวะ เพื่อที่อังวะจะได้เข้าโจมตีอยุธยาได้อย่างง่ายดาย คำให้การของชาวกรุงเก่าได้ระบุว่ามีคนไทยทรยศ ชื่อว่า พระยาพลเทพ ความว่า “…มีคนไทยชื่อ พระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศาสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาว่าจะเปิดประตู [ด้านทิศตะวันออก] คอยรับเมื่อพม่าเข้าโจมตี เข้าใจว่าเป็นบริเวณหัวรอหรือใกล้เคียง ซึ่งพม่าก็ได้ระดมเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านนี้…” และตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เขาเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยเสียกรุง

 

 

เนเมียวสีหบดี รับบทโดย ไผ่ วิศรุต หิรัญบุศย์

เป็นหนึ่งใน 68 ทหารผู้กล้าหาญที่ร่วมกันสถาปนาราชวงศ์คองบอง โดยได้รับเลือกจากพระเจ้าอลองพญา ใน พ.ศ. 2295 และได้กลายมาเป็นหนึ่งใน”ทหารที่โดดเด่นที่สุด” ของกองทัพรวมชาติแห่งพระเจ้าอลองพญา (พ.ศ. 2295-2300) ต่อมาเขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านนา, อาณาจักรล้านช้าง และ อาณาจักรอยุธยา ร่วมกับ มังมหานรธา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310

 

อะแซหวุ่นกี้ รับบทโดย ศานติ สันติเวชชกุล

อะแซหวุ่นกี้มีศักดิ์เป็นพระญาติข้างพระราชมารดาของพระเจ้ามังระ เป็นคนสุขุมรอบคอบ สุภาพอ่อนโยน แม้จะถือกำเนิดจากสามัญชน แต่เป็นคนมีความรู้มาก ชำนาญการศึก และวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นหนึ่งในแม่ทัพของพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์คองบอง ตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอลองพญายังเป็นสามัญชน เป็นหนึ่งใน 68 ทหารผู้กล้าหาญที่ร่วมกันสถาปนาราชวงศ์คองบอง และเป็นหนึ่งในแม่ทัพใหญ่ของพม่าที่พระเจ้ามังระไว้วางพระราชหฤทัยมากที่สุด โดยจะให้เป็นแม่ทัพใหญ่ทุกครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งอะแซหวุ่นกี้ผู้นี้ก็ไม่เคยทำให้พระเจ้ามังระผิดหวังเลย นับได้ว่าเป็นแม่ทัพคู่บารมีของพระเจ้ามังระอย่างแท้จริง

 

มังมหานรธา รับบทโดย ชัชวาล เพชรวิศิษฐ์

เป็นแม่ทัพใหญ่ร่วมของกองทัพพม่าระหว่างปี พ.ศ. 2308 ถึง 2310 เขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแม่ทัพผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายใต้ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เขาและเนเมียวสีหบดีร่วมกันบัญชาการการล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน เขาเสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทัพพม่าจะประสบความสำเร็จ มีพระราชโองการให้จัดการฝังร่างเขาอย่างสมเกียรติเป็นพิเศษ

 

ภาพจาก mgronline.com , www.soccersuck.com , www.sanook.com , siriwan5625.blogspot.com / Instagram : @atichart9

เรียบเรียง Ploychompoo

 

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

เรื่องย่อหนึ่งด้าวฟ้าเดียว เจมส์จิ สวมมาดขันที ประกบ แต้ว ณฐพร

แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ กับหลากผลงานพิสูจน์การแสดง

รวม ละครพีเรียด กระแสดี ปลุกให้คนสนใจประวัติศาสตร์

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up