มะเร็งเป็นโรคร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ แต่คนสมัยนี้ก็เป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น สภาพแวดล้อม มลภาวะ อาหารการกิน หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกับวัยทำงานเนี่ย โอกาสที่จะเกิดมะเร็งมีค่อนข้างสูงเลยนะ เพราะมัวแต่ทำงานจนละเลยการดูแลตัวเอง สุดฯ เลยอยากให้ทุกคนรู้ทัน มะเร็งกับวัยทำงาน ไว้ จะได้ไหวตัวทัน บาลานซ์ชีวิตถูก
รู้ทัน มะเร็งกับวัยทำงาน
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
เป็นมะเร็งที่มักพบในผู้ที่มีอายุราว 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยลง และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเกิดจากบุหรี่ ทั้งคนสูบและคนที่ได้รับควันพิษ และคนที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่แม้จะเลิกสูบแล้วก็ตาม รวมถึงการสัมผัสสารเคมีบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง หนัง สี และการพิมพ์
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะทำได้โดยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตัดหรือทำลายก้อนมะเร็งและนำเนื้อเยื่อมาตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และลุกลามลึกถึงชั้นไหนของกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ในกรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ หรือตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไปแพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด ร่วมกับการทำเคมีบำบัด หรือฉายรังสีเพื่อลดการลุกลามและเกิดซํ้าของมะเร็ง
มะเร็งเต้านม
ผู้หญิงที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ กลุ่มที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีลูกแต่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาวๆ ออฟฟิศ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมถือว่าเป็นการรักษาหลัก ซึ่งการผ่าตัดแบบเดิมคือ ตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถเก็บเต้านมไว้ได้โดยไม่ต้องตัดออกทั้งหมด ถ้าสภาวะของเต้านมเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะตัดเฉพาะก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติบางส่วนรอบๆ ก้อนมะเร็งออกไป และทำการฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลือเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
ส่วนการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จากเดิมที่ทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ปัจจุบันจะผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกเท่าที่จำเป็น ช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น แขนบวม ยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยยังคงรักษารูปทรงของเต้านมไว้ได้ แต่ผู้ป่วยต้องมีภาวะที่เหมาะสม เช่น ก้อนมะเร็งไม่ใหญ่เกินไป เต้านมมีขนาดใหญ่พอที่จะคงรูปลักษณ์ไว้ได้หลังผ่าตัด เป็นต้น นอกจากการผ่าตัดแล้ว แพทย์ยังพิจารณาให้การรักษาอื่น ๆ ประกอบกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำโดยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ ด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม การฉายรังสี การให้ยาต้านฮอร์โมน การให้ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง
ลดความเสี่ยง เลี่ยงมะเร็ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และควันบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งปากมดลูก
- หลีกเลี่ยงการรับฮอร์โมนเอสโทรเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านม
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้มนม มะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก
ข้อมูลจาก บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ , รพ.บำรุงราษฎร์
ภาพจาก www.dyanfahrur.com , nakita.grid.id , smartchristianwoman.wordpress.com , makeupandbeauty.com
TEXT : Ploychompoo
เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ
5 ขุมพลังสาวออฟฟิศ หนักแค่ไหนก็ไม่หวั่น ลุยงานได้ทั้งวันแบบเริดๆ