หลังจากที่ได้ยินข่าวดาราเสียชีวิตกันหลายคนติดๆ กัน ทั้งที่บางคนยังแข็งแรงและไม่มีอาการใดๆ ส่วนหนึ่งก็สันนิษฐานว่าเป็น ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือหัวใจวายนั่นเอง ซึ่งน่ากลัวมากและไม่ควรประมาท เพราะคนแข็งแรงหลายๆ คนก็เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้มาแล้ว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน อันตราย!
อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากการที่เลือดออกจากหัวใจไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาการที่เกิดจากภาวะคั่งของน้ำและเกลือ โดยจะมีอาการดังนี้
- อาการหายใจเหนื่อย เป็นอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว โดยอาจมีอาการเหนื่อยในขณะที่ออกแรง อาการเหนื่อย/หายใจไม่สะดวกในขณะนอนราบ บางครั้งจะไอในขณะนอนราบด้วย หรือในขณะนอนหลับต้องตื่นขึ้นเนื่องจากมีอาการหายใจไม่สะดวก
- อ่อนเพลีย เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายลดลง
- มีอาการบวมจากภาวะคั่งน้ำและเกลือ เช่น ที่เท้าและขามีลักษณะบวม กดแล้วบุ๋ม มีน้ำคั่งในปอดและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้ามโต มีน้ำในช่องท้อง ทำให้มีอาการท้องบวม ท้องโตขึ้น แน่น อึดอัด
ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น เกิดจากภาวะที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในบางรายอาจแข็งแรงดี แต่อยู่ๆ ก็กลับมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก รู้สึกอึดอัด เหนื่อย อาการผิดปกติที่สำคัญที่สุดที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ อาการแน่นตรงกลางอก และมักเป็นนานเกินนาทีขึ้นไป ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่ โดยเฉพาะไหล่ซ้าย แต่ในบางรายอาจไม่แน่นหน้าอก แต่จะเหนื่อยและมีเหงื่อแตกร่วมด้วย
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้อมเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ และมีงานวิจัยพบว่า การนอนกรนรุนแรงที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากการหยุดหายใจขณะหลับทำให้ขาดออกซิเจน ซึ่งทำให้หลอดเลือดเสื่อมและส่งผลกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ
ซึ่งหากใครรู้สึกว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที อย่ารอช้า เพราะแพทย์จะสามารถทำการรักษาได้ทันที และจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ผู้ที่มีอาการป่วยเช่นนี้ไม่ควรอยู่คนเดียว หรือล็อกห้องเพียงลำพัง เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะได้มีคนรับรู้และนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
- สังเกตความผิดปกติของร่างกายเสมอ หมั่นเช็คอัตราการเต้นของหัวใจ และสังเกตว่ามีอาการต่างๆ ที่คล้ายอาการข้างต้นหรือไม้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
- งดอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้ความดันเลือดสูงและเกิดภาวะหัวใจตีบได้ง่าย
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันสิ่งที่ยังไม่เกิด และหากเกิดขึ้นแล้วจะได้รักษาได้ทันท่วงที
- พยายามไม่เครียด เพราะความเครียดและความโกรธจะทำให้หัวใจเต้นแรงและทำงานหนักขึ้น
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพจาก rula.co.id , www.health.harvard.edu , www.rd.com , Reader’s Digest
เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แค่บ้วนปากก็เป็นได้จริงหรือ??
ไทรอยด์ โรคร้ายที่รักษาได้ ดาราคนไหนเป็นไทรอยด์บางนะ?
ปวดกล้ามเนื้อ อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เหมือนเคส จอย-รินลณี