สุดท้ายถึงเกศสุรางค์จะได้มีโอกาสมาอยู่ในร่างของคนสวยตามที่เคยฝัน แต่เธออยากกลับบ้านไปหา สิปาง มารดา และ คุณนวล ยายของเธอมากกว่า เกศสุรางค์พยายามคิดหาทางกลับไปสู่โลกของตัวเองให้ได้ แต่เธอไม่รู้จะทำยังไง เกศสุรางค์จึงไปหาหมื่นสุนทรเทวา เพราะคิดว่าเขาอาจจะช่วยเธอได้บ้าง ทว่าหมื่นสุนทรเทวากลับไม่ยอมพูดกับเธอดีๆ ซ้ำยังมีท่าทางรังเกียจราวกับว่าเธอเป็นกิ้งกือไส้เดือน แม้ว่าแม่หญิงการะเกดมีรูปร่างหน้าตาสวยงามราวภาพวาดก็ตาม
เกศสุรางค์อยากรู้ว่า ทำไมหมื่นสุนทรเทวาถึงเกลียดคู่หมั้นของตัวเองนักหนา จึงไปตะล่อมถามจากผินและแย้ม โดยอ้างว่ามนต์กฤษณะกาลีทำให้เธอมึนๆ จนจำอะไรไม่ได้ ผินกับแย้มเล่าถึงอดีตที่เธอนิสัยเลวร้ายอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสะพรึงยิ่งกว่านั้นคือ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันแม่หญิงการะเกดวางแผนร้ายล่มเรือแม่หญิงจันทร์วาดจนมีคนตาย !
เกศสุรางค์นึกถึงสิ่งที่วิญญาณของแม่หญิงการะเกดบอกว่า ขอให้เธอช่วยแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดแทน เกศสุรางค์จึงคิดว่า ถ้าเธอสามารถทำให้ทุกคนรักและให้อภัยการะเกดได้ เธออาจจะได้กลับบ้าน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เกศสุรางค์จึงทำใจยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่ในร่างของแม่หญิงการะเกด
แต่ในเมื่อการะเกดคือเกศสุรางค์ สาวร่างอ้วนที่จิตใจดีมีเมตตา เฉลียวฉลาด มีอารมณ์ขัน รักความยุติธรรม ไม่แบ่งแยกชนชั้น คนทั้งบ้านจึงประหลาดใจกับการเปลี่ยนแปลง เหมือนเป็นคนละคนของแม่หญิงการะเกด จากวาจาผรุสวาทเป็นเนืองนิตย์ กลายเป็นวาจาอ่อนหวานไม่ถือตัว ถึงกับเรียกบ่าวสองคนว่า “พี่” ตามวิถีนับญาติของคนไทยสมัยปัจจุบัน ทำให้คุณหญิงจำปาขัดเคืองใจยิ่งนัก นอกจากนั้นพฤติกรรมอื่นๆ ของแม่หญิงการะเกดที่ทำให้ผู้คนตกตะลึง อาทิ แจกเงินบ่าว ซื้อข้าวของเครื่องใช้แจกคนในเรือน คิดทำเครื่องกรองน้ำแทนการใช้สารส้มแกว่งแบบโบราณ เย็บปักถักร้อยเก่ง ร้อยมาลัยเป็น ทำกับข้าวได้ และสุดท้ายคือ ขอไปทำบุญที่วัด ซึ่งร้อยวันพันปีการะเกดตัวจริง ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้มาก่อน
คุณหญิงจำปาปักใจว่าผีเข้าสิงการะเกด หมื่นสุนทรเทวาถึงกับพูดจาขู่เข็ญเกศสุรางค์ต่างๆนานาให้รับสารภาพ แม้ว่าในใจของตนจะเผลอไผลไปกับความน่ารัก และความดีที่ไม่เคยเห็นในตัวการะเกด แต่ก็พยายามค้นหาความจริง ที่เป็นคำถามรบกวนจิตใจตลอดเวลา เกศสุรางค์ปฏิเสธเสียงแข็ง ยืนยันว่าตนคือการะเกด ที่ดูเหมือนวิปลาสไป เพราะฤทธิ์ของมนต์กฤษณะกาลีเท่านั้น ไม่ช้าตนจะเป็นการะเกดคนเดิม
ต่อจากนั้นเกศสุรางค์พยายามทำตัวกลมกลืนกับวิถีชีวิตอยุธยาให้มากขึ้น เพื่อให้หมื่นสุนทรเทวาเลิกสงสัยเสียที แต่สาวรัตนโกสินทร์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องจำเป็นมาเป็นสาวอยุธยาในศตวรรษที่ 17 ต้องพบกับความยุ่งยากนานัปการ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งการแต่งตัว การเดินลุกนั่ง การกินการอยู่ การอาบน้ำ การขับถ่าย ตลอดจนภาษาพูดที่แตกต่าง แม้เป็นภาษาไทยเหมือนกันก็ตามที
บรรยากาศของเรือนออกญาโหราธิบดี จึงดำเนินต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายค่อยๆ ปรับตัวปรับใจ กับความแปลกใหม่ที่เผชิญ สิ่งที่เกศสุรางค์พอใจอย่างยิ่งคือ การได้เห็นอยุธยาด้วยตาของเธอเอง มิใช่จากบันทึกของผู้คนทั้งไทยและชาวต่างชาติ ออกญาโหราธิบดีให้หมื่นสุนทรเทวาพาการะเกดไปเที่ยวตลาด หรือ “ป่า” ที่ชาวอยุธยาเรียก ภูมิทัศน์ของอยุธยาที่เธอเคยจินตนาการจากหนังสือ หรือจากคำสอนของอาจารย์ปรากฏให้เห็นจะๆตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นป้อมเพชรอันเลื่องชื่อ วัดพระศรีสรรเพชร์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดไชยวัฒนาราม ที่เธอเปรียบเทียบวัดไชยฯตรงหน้า กับวัดไชยฯที่รัฐบาลไทยบูรณะจนสมบูรณ์ในปัจจุบัน เธอได้นั่งเรือวนรอบเกาะอยุธยา ได้เห็นวังหลวงที่งดงามอร่ามเรืองด้วยทองคำทุกหนทุกแห่ง ได้เห็นแล้วว่าอยุธยานั้นเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด ด้วยการค้าขายกับชาวต่างประเทศที่พากันเข้ามาเสริมสร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์ให้ดินแดนนี้
นับวันเกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด ก็เป็นความเคยชินของหมื่นสุนทรเทวาที่จะพูดคุยด้วย ที่จะพาไปเที่ยวที่ต่างๆในอยุธยา ที่จะตอบคำถามมากมายหลายเรื่องที่เกศสุรางค์สรรหาขึ้นมาถาม ความอยากรู้อยากเห็นของเกศสุรางค์ ส่งผลต่อความกระตือรือร้นของหมื่นสุนทรเทวาที่จะตอบและอธิบาย คำพูดเฉลียวฉลาดฉะฉาน ไม่มีทีท่าเอียงอาย หรือทอดสะพานอย่างที่เคยเป็น แววตาซื่อตรงที่จ้องจับ และคอยฟังคำตอบจากเขา หมื่นสุนทรเทวาไม่รู้ตัวว่าความเกลียดชังแต่ก่อนหายไปไหนหมด ความรู้สึกที่มาแทนที่คือความสนใจไยดี อาทรห่วงหา และร้อนรุ่ม ยามเธอมีใครอื่นมาสนใจใกล้ชิด
ยิ่งเมื่อใครคนนั้นไม่ใช่คนเดียว ความหงุดหงิดจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ หนึ่งในนั้นคือ หมื่นเรืองราชภักดี เพื่อนสนิทของเขา ที่ดูจะสนใจแม่การะเกดเป็นพิเศษ และแม่การะเกดก็ดูจะมีไมตรีตอบ แต่หมื่นสุนทรเทวาไม่รู้สาเหตุว่า เป็นเพราะหมื่นเรืองราชภักดีนั้น หน้าตาเหมือนเรืองฤทธิ์ เพื่อนชายที่เกศสุรางค์หลงรักอยู่
นอกจากความตื่นตาตื่นใจกับบ้านเมืองและผู้คนในอยุธยา เกศสุรางค์ยังพบว่า ตนเองตื่นเต้นยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบบุคคลที่เธอรู้จักในประวัติศาสตร์หลายคน อาทิ เจ้าพระยาโหราธิบดี ศรีปราชญ์ เจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ หลวงศรียศ นายพลเดส์ฟาร์ช สังฆราชปัลลู เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และท้าวทองกีบม้า บางคนที่เธอรู้ชะตากรรมของเขาเหล่านั้นว่าจะสิ้นชีวิตก่อนเวลาอันควร แม้จะพยายามส่งสัญญาณเตือนด้วยความหวังว่าอาจจะช่วยไม่ให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้น แต่เธอก็ต้องตระหนักว่า กงล้อประวัติศาสตร์ไม่สามารถหมุนกลับได้
อีกคนในประวัติศาสตร์ที่เกศสุรางค์ใกล้ชิดสนิทสนม ได้รับรู้รายละเอียดความเป็นไปในชีวิตคือ ท้าวทองกีบม้า หรือ แม่มะลิ หญิงสาวลูกครึ่งแขก-ญี่ปุ่น ที่พ่อชาวเบงกอลชื่อ ฟานิก เป็นพ่อค้าขายผ้าในตลาด ทั้งสองรู้จักกันเพราะฟานิกถูก หลวงสุรสาคร ข้าราชการชาวกรีก และฝรั่งคนสนิทข่มขู่รังแก เกศสุรางค์เห็นจึงเข้าไปช่วยโต้เถียง เพราะเห็นว่าฟานิกไม่ผิด แค่ผู้หญิงอยุธยาเถียงกับฝรั่ง ก็เป็นเรื่องที่ผู้คนฮือฮาตกใจลือกันไปทั่วแล้ว แต่ยังโต้เถียงกันเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อของแม่หญิงการะเกด เป็นที่โจษขานกันทั่ว นับว่าดังเพียงชั่วข้ามคืน ต่อจากนั้นเกศสุรางค์ จึงกลายเป็นมิตรสนิทกับแม่มะลิ ไปมาหาสู่พูดคุยกันเป็นประจำ
เกศสุรางค์พบว่า หมื่นสุนทรเทวาเนื้อหอมไม่ใช่ย่อย คนหนึ่งคือแม่หญิงจันทร์วาด ที่เกศสุรางค์ยกให้เป็น “กิ๊ก” ของคุณพี่หมื่น เนื่องจากแม่หญิงจันทร์วาด รู้ว่าหมื่นสุนทรเทวานั้นเป็นคู่หมายของการะเกด แต่ยังมีทีท่าทอดสะพานอยู่เนืองๆ และตัวคุณพี่หมื่นก็เหมือนมีไมตรีตอบในบางครั้งบางคราวด้วย เป็นเหตุให้เกศสุรางค์พูดจาล้อเลียนอยู่เสมอ และทำให้หมื่นสุนทรเทวาขุ่นเคืองใจทุกครั้ง
อีกคนหนึ่งที่มีใจให้หมื่นสุนทรเทวาคือ แม่มะลิ เกศสุรางค์นั้นเชียร์เพื่อนจนสุดตัว แต่หมื่นสุนทรเทวากลับพูดจาเป็นนัยๆว่า อย่าออกแรงหนุนผู้ใดให้เขาเลย คนที่เขาพอใจคือ คนที่เกศสุรางค์เห็นยามส่องกระจกต่างหาก ทำให้แม่หญิงตัวแสบถึงกับหวั่นไหวในใจ กับวาจาเกี้ยวพายอกย้อนของหนุ่มอยุธยา แต่พยายามกลบเกลื่อนไม่ยอมรับลูกเดียว
บุพเพสันนิวาสทำงานไปเรื่อยๆ ความผูกพันระหว่างแม่หญิงการะเกดตัวปลอม กับขุนนางหนุ่มแห่งอยุธยาก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ ทีท่านั้นต่างก็รู้กันอยู่แก่ใจ แต่ปากแข็งใจแข็งไม่ยอมรับทั้งคู่ จนวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ถือว่า เป็นทอล์คออกเดอะทาวน์ของอยุธยา คือเรือที่หมื่นสุนทรเทวาและการะเกดนั่งมาด้วยกัน ถูกเรือลำหนึ่งชนอย่างแรงจนคว่ำลง หมื่นสุนทรเทวาถูกหัวเรือกระแทกที่กกหูจนตกน้ำสลบไป เกศสุรางค์ใช้วิธี “เมาท์ทูเมาท์” ช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นที่โจษจันอื้ออึงทั้งอยุธยา เกศสุรางค์ไปทางไหนก็ถูกมองถูกซุบซิบ จนเริ่มจะรู้สึกเดือดร้อน ทำนองเดียวกันหมื่นสุนทรเทวา ที่ตอนนี้ได้รับอวยยศเป็น ขุนศรีวิสารวาจา ก็รู้สึกเช่นกัน จึงเสนอตัวว่าจะออกเรือนกับแม่หญิงการะเกด
เหมือนระเบิดลง หลายคนสะเทือนกันไปหมด คนที่อกหักจากข่าวนี้ คนแรกคือขุนเรืองราชภักดี คนต่อมาคือแม่หญิงจันทร์วาด และคนสุดท้ายคือ แม่มะลิ สุดท้ายแม่มะลิจึงตัดสินใจรับปากจะแต่งงานกับหลวงสุรสาคร ที่พยายามเทียวไล้เทียวขื่อตนมาตั้งแต่เกิดเรื่องวิวาทกับแม่หญิงการะเกดในครั้งกระโน้น เกศสุรางค์ไปงานแต่งงานด้วย และในวันนั้นเองจึงได้รู้ว่าหลวงสุรสาครคือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ส่วนแม่มะลิคือ มารี เดอ กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า บุคคลสำคัญสองคนในประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชะตาชีวิตของเกศสุรางค์พลิกผันอีกครั้งคือ เมื่อเกศสุรางค์แฝงตัวเข้าไปแอบฟังฟอลคอนและพรรคพวกเจรจาความลับที่คิดคดต่อบ้านเมือง ในขณะนั้นฟอลคอนเกิดได้กลิ่นน้ำอบของผู้หญิงไทยเข้า จึงรู้ว่ามีใครบางคนอยู่ในบริเวณนั้นก็เลยตามหาและไล่ยิงเกศสุรางค์ จนเธอเกือบจะถูกยิง แต่พ่อเดชมาช่วยและพาหนีไปได้ทัน
พ่อเดชทั้งโกรธทั้งเป็นห่วงเกศสุรางค์มากที่ทำตัวเสี่ยงเกินไป จนเขาโพล่งความในใจที่มีต่อหญิงสาวออกมาว่าเขารักเธอ ทำเอาเกศสุรางค์อึ้งไป ใจหนึ่งเธอก็ดีใจที่ได้รับรู้ความรู้สึกของเขา แต่อีกใจเธอก็ต้องหักห้ามใจตัวเอง เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งเธอก็จะต้องกลับไปยังโลกของเธอ และเธอเคยปฏิญาณแล้วว่าเธอจะรักเรืองฤทธิ์ผู้เดียวไปตลอดชีวิต ที่สำคัญก็คือว่าพ่อเดชเป็นคนรักของแม่หญิงการะเกด ไม่ใช่ของเธอ เกศสุรางค์จึงทำเป็นไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่ารักจากพ่อเดช มิหนำซ้ำยังขอให้การแต่งงานเลื่อนออกไป โดยอ้างว่าน่าจะรอให้ขุนศรีวิสารวาจา เข้าไปรับตำแหน่งในวังให้เรียบร้อยเสียก่อน
วันหนึ่งเกศสุรางค์เข้าไปในห้องทำงานของออกญาโหราธิบดี แล้วเห็นพานอะไรบางอย่างอยู่บนหลังตู้จึงหยิบมาดู โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือบทสวดมนต์กฤษณะกาลี ซึ่งใครที่ยังไม่ได้ทำพิธีขออนุญาต ไม่สามารถจับต้องได้ ดังนั้นเพียงแค่เกศสุรางค์แตะมือลงไป วิญญาณของเธอก็กระเด็นหลุดจากร่างของแม่หญิงการะเกดทันที ! พ่อเดชกลับมาถึงเรือนพอดี จึงได้เห็นวิญญาณของเกศสุรางค์ยืนอยู่ข้างๆ ร่างของแม่หญิงการะเกดที่นอนไร้ลมหายใจอยู่บนพื้น ก่อนที่วิญญาณของหญิงสาวผู้นั้นจะเลือนหายไป พ่อเดชปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมามีวิญญาณของหญิงสาวผู้อื่นอยู่ในร่างของการะเกด
ท่านชีปะขาว อาจารย์ของพ่อเดชที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ได้ตั้งคำถามกับพ่อเดชว่าเขารักใคร เขาตอบโดยไม่ต้องคิดว่า เขารักวิญญาณผู้หญิงคนนั้น ที่เขาไม่รู้ว่าเธอเป็นใครและมาจากไหน แต่ตอนนี้เขาต้องการให้เธอกลับมาอยู่กับเขา ท่านชีปะขาวจึงบอกให้ท่องมนต์กฤษณะกาลี เพื่อเรียกวิญญาณของแม่หญิงผู้นั้นกลับมา ด้วยความรักที่มีต่อเกศสุรางค์ เขาจึงนั่งท่องมนต์กฤษณะกาลีข้ามวันข้ามคืนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ส่วนทางด้านวิญญาณของเกศสุรางค์นั้น หลุดล่องลอยไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมาย เกศสุรางค์ร้องไห้ด้วยความกลัวจับใจ และในขณะที่มิติของทั้งสองโลกบรรจบกัน วิญญาณของเธอได้กลับไปยังโลกปัจจุบัน และได้ไปเห็นว่า คุณสิปางกำลังนั่งร้องไห้อยู่หน้ารูปตั้งหน้าศพของเกศสุรางค์ แล้วยายนวลก็เข้ามาปลอบใจ เกศสุรางค์จึงรู้ว่าตัวเธอตายไปแล้วตั้งแต่อุบัติเหตุครั้งนั้น และได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เรืองฤทธิ์ก็รักเธอมากเสียจนขอบวชตลอดชีวิต
เกศสุรางค์ซาบซึ้งใจมาก แล้วขณะที่จ้องพระเรืองฤทธิ์อยู่นั้น เธอก็เห็นเงาสะท้อนของพ่อเดชอยู่ในร่างของเรืองฤทธิ์ เธอจึงเข้าใจแล้วว่า แท้จริงแล้วเรืองฤทธิ์ก็คือพ่อเดชมาเกิดใหม่ แล้วไม่เพียงเท่านั้น เกศสุรางค์ยังได้พบกับแม่หญิงการะเกด ที่มาในสภาพที่สวยงาม อันเป็นผลจากบุญที่เกศสุรางค์อุทิศให้อยู่เรื่อยๆ การะเกดมาขอบคุณเกศสุรางค์ และมาอนุญาตให้เกศสุรางค์ใช้ร่างของเธอได้เลย เพราะเธอหมดบุญแล้ว ส่วนเกศสุรางค์นั้น ก็ได้หมดบุญในชาติปัจจุบันเช่นกัน แต่กลับไปเกิดใหม่ในชาติอดีตแทน เพื่อที่จะได้ไปครองรักกับเนื้อคู่ของเธอ ซึ่งก็คือขุนศรีวิสารวาจานั่นเอง
เมื่อวิญญาณของแม่หญิงการะเกดเลือนหายไปแล้ว เกศสุรางค์ก็ได้ยินมนต์กฤษณะกาลีอีก เธอรู้ว่าไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในชาติปัจจุบันได้อีกแล้ว จึงกลับไปกราบลาแม่กับยายและร้องไห้แทบขาดใจ ก่อนจะกลับเข้าไปในร่างของแม่หญิงการะเกด
เมื่อร่างของการะเกดฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พ่อเดชที่ร่างกายอิดโรยมากจากการนั่งท่องมนต์มาหลายวัน ก็สวมกอดร่างของเธอเอาไว้แน่นและกระซิบบอกข้างหูของเกศสุรางค์ว่า…ไม่ว่าเธอจะเป็นใครมาจากไหน แต่ให้รู้เอาไว้ว่าเธอคือแม่หญิงที่เขาจะรักตลอดไป เกศสุรางค์ดีใจจนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ไหวอีกต่อไป และเธอก็ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะรักเขาอีกต่อไป เพราะพ่อเดชเป็นเนื้อคู่ของเธอที่บุพเพสันนิวาสดลบันดาลให้ทั้งสองได้มาพบกันในที่สุด
———- จบ ———-
บุคลิกตัวละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”
ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ รับบท พ่อเดช/หมื่นสุนทรเทวา/ขุนศรีวิสารวาจา
ชายหนุ่มหน้าตาโบราณ แววตาคมกล้า มองใครทะลุถึงหัวใจ สีหน้าสงบเยือกเย็นอยู่เสมอ เสน่ห์ของพ่อเดชอยู่ที่นัยน์ตาพูดได้ ทั้งยามรักยามชัง และความหึงหวงที่ซ่อนเร้นไม่มิด เก่ง ฉลาด รู้ทันคน โดยเฉพาะเกศสุรางค์ที่เห็นมาตั้งแต่ต้นว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่พูดน้อย เฝ้าแต่คอยสังเกต เก็บงำความรู้สึกลึกๆ แม้กระทั่งความรัก บางครั้งเขาถึงกับหัวหมุน เพราะเจอลวดลายของสาวแสบแบบเกศสุรางค์ อย่างที่ไม่เคยมีหญิงใดในอยุธยาเสมอเหมือน จนติด จนเคยชิน และรักได้โดยไม่รู้ตัว
ราณี แคมเปน รับบท เกศสุรางค์
ร่างอวบอ้วน แต่หน้าตาสวยงาม นิสัยร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี เฉลียวฉลาด เกลียดการข่มขู่ดูถูกกัน เป็นนักสู้ ไม่นิ่งเฉยกับความไม่ถูกต้อง จิตใจเข้มแข็ง มุ่งมั่นกับสิ่งที่เห็นว่าควร เมื่อไปอยู่ในร่างของการะเกดได้นำพาความน่ารัก ช่างพูด ช่างซักถาม กระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น มีอารมณ์ขัน และวาจาคารมคมคายไปด้วย ทำให้เป็นที่ประทับใจของผู้คนชาวอยุธยา โดยเฉพาะพ่อเดชหรือหมื่นสุนทรเทวาจนตกหลุมรักอย่างไม่ตั้งใจ
ราณี แคมเปน รับบท การะเกด
หน้าตาสวยงาม รูปร่างอ้อนแอ้นแบบบาง แต่นิสัยเลวร้ายมาก ความไม่ดีทุกอย่างอยู่ในตัว ทั้งปากร้าย ใจคด ขี้อิจฉา โกหกปลิ้นปล้อน สุดท้ายถึงกับใจเหี้ยมคิดฆ่าคน บาปกรรมสนองจนต้องตาย
ปรมะ อิ่มอโนทัย รับบท พ่อเรือง/หมื่นเรืองราชภักดี/ขุนเรืองอภัยภักดี
เพื่อนสนิทของพ่อเดช ทะเล้น ขี้เล่น และเจ้าชู้ ตกหลุมรักเกศสุรางค์ในร่างการะเกดอย่างจริงจัง ห้ามใจไม่ได้กับความแปลก และน่าค้นหาของเกศสุรางค์ แม้จะรู้ว่าเป็นคู่หมายของเพื่อน ในที่สุดต้องยอมรับว่าอกหัก จึงหันไปสนใจแม่หญิงจันทร์วาดจนได้แต่งงานกัน
ปรมะ อิ่มอโนทัย รับบท เรืองฤทธิ์
ชายหนุ่มเพื่อนสนิทของเกศสุรางค์ เขาแอบหลงรักเกศสุรางค์มาตลอด แต่ไม่เคยบอกเพราะกลัวจะเสียเพื่อนไป เขาจึงเก็บงำเรื่อยมา และเขาก็มีหน้าตาเหมือนพ่อเรืองไม่มีผิดเพี้ยน
กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล รับบท แม่หญิงจันทร์วาด
หน้าตาสวยหวาน กิริยาเรียบร้อยอย่างยิ่ง เป็นประมาณไฮโซในอยุธยาเพราะพ่อเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ กิริยาระเหิดระหง เป็นคนชั้นสูง กรีดกรายเล็กน้อยพองาม ในตอนแรกไม่ค่อยถูกชะตากับการะเกด เพราะหมายตาชายหนุ่มคนเดียวกัน แต่ภายหลังเห็นความดี ประกอบกับรู้ว่าพ่อเดชไม่เปลี่ยนใจแน่นอน จึงหันไปรักพ่อเรืองแทน
นิรุตติ์ ศิริจรรยา รับบท ออกญาโหราธิบดี
บิดาของพ่อเดช เก่งทางโหราศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นราชครูของพระนารายณ์ ใจดี เมตตากรุณาต่อการะเกดจริงใจ แม้ในยามการะเกดร้ายกาจจนใครๆเกลียดก็ตาม มองเหตุการณ์บ้านเมืองทะลุ คาดการณ์หลายอย่างแม่นยำ
ชไมพร จตุรภุช รับบท คุณหญิงจำปา
มารดาพ่อเดช ตอนแรกเกลียดชังการะเกดมาก เข้มงวดดุว่า แต่ไม่สามารถขัดขวางเรื่องการแต่งงานของลูกชายกับการะเกดได้ ทำได้แต่แสดงกิริยารังเกียจ พูดจากระทบกระแทกแดกดัน และยุยงลูกชายให้เกลียดด้วย สุดท้ายเห็นความดีความจริงใจ เห็นว่าลูกชายรักจริง เห็นแก่ความสุขของลูกจึงต้องยอมแพ้ความดีของเกศสุรางค์
สุษิรา แน่นหนา รับบท แม่มะลิ/ตองกีมาร์/ท้าวทองกีบม้า
ลูกครึ่งแขกเบงกอลทางพ่อ และญี่ปุ่น-โปรตุเกสทางแม่ สวยคมขำ รูปร่างดีเพราะเผ่าพันธุ์ เป็นเพื่อนสนิทการะเกด…ถูกชะตากัน จำใจแต่งงานกับฟอลคอนเพราะผิดหวังจากพ่อเดช สุดท้ายก็รักฟอลคอนเพราะเห็นว่ารักจริง แต่ในที่สุดฟอลคอนตาย ตัวเองถูกจับต้องอาญาขังคุก แต่ทำความดีในคุกจนได้เป็นข้าราชการ สุดท้ายเป็นหัวหน้าห้องเครื่องหวาน มีฝีมือทำขนมเป็นที่เลื่องลือ
หลุยส์ สก๊อต หลวงสุรสาคร/คอนสแตนติน ฟอลคอน/ออกพระฤทธิกำแหง/เจ้าพระยาวิชาเยนทร์
เชื้อสายกรีก เข้ามารับราชการในราชสำนักอยุธยา เป็นที่โปรดปรานของพระนารายณ์ เพราะเป็นคนฉลาดและเข้าใจเพ็ดทูลเรื่องราวต่างๆ มักจะมีแนวคิดใหม่ๆมาเสนอให้พระนารายณ์เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หลายอย่างของราชสำนัก จนเป็นที่เล่าลือว่าฟอลคอนมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เคยใส่ความว่าออกญาโกษาธิบดีกินสินบน จนต้องถูกโบยจนตายสมดังที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ เป็นคนใจร้าย วาจาสามหาว มุทะลุดุดัน เจ้าแผนการ แต่จงรักภักดีต่อพระนารายณ์เป็นที่สุด สุดท้ายเมื่อเกิดกบฏพระเพทราชา พระนารายณ์สิ้นพระชนม์ จึงถูกกลุ่มกบฏสังหาร
รมิดา ประภาสโนบล รับบท แย้ม และ จรรยา ธนาสว่างกุล รับบท ผิน
สองบ่าวผู้จงรักภักดีต่อการะเกด ตามวิถีของทาสสมัยก่อนคือซื่อสัตย์ต่อนาย แม้ว่าจะถูกต่อว่าหรือลงโทษรุนแรงอย่างใด ก็ยังรักยังภักดี จนเมื่อได้รับความเมตตาจากเกศสุรางค์ในร่างของการะเกด สองบ่าวยิ่งทวีความรักและพร้อมปกป้องแม่นายของตน สองคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันต่อการะเกด แย้มดูจะเงียบกว่าผินที่มักมีวาจาโผงผาง บู๊เก่ง แต่เมื่อพูดบ้างแย้มก็ทำให้คนฟังอึ้งได้เหมือนกัน
อำภา ภูษิต รับบท นางปริก
แม่ครัวของคุณหญิงจำปา ไม่ชอบการะเกดเพราะเคยโดนดุด่าและบางทีถึงขั้นตบตี เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน มีโอกาสต้องลอบทำร้ายการะเกด
วิมลพันธ์ ชาลีจังหาญ รับบท นางจวง
บ่าวในเรือนคุณหญิงจำปา ทำงานจิปาถะ เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี
วิศรุต หิมรัตน์ รับบท นายจ้อย
เป็นคนสนิทหมื่นสุนทรเทวา ทำหน้าที่เหมือนทนายหน้าหอ ขนของตามนาย แจวเรือ และไปกับนายทุกที่
วัชรชัย สุนทรศิริ รับบท ท่านชีปะขาว
ชายแก่วัยประมาณ 60 ปี เป็นครูประจำสำนักฝึกต่อสู้ เขาเป็นผู้มีวิชาอาคม และมีความน่าเกรงขาม เป็นที่เคารพของเหล่าทหารที่ช่วยกันปกป้องบ้านเมือง
สุรศักดิ์ ชัยอรรถ โกษาเหล็ก
อายุประมาณ 50 ปีกว่า รูปร่างสูงใหญ่ นัยน์ตาคมเหมือนตาเหยี่ยว เสียงพูดเด็ดขาดชัดเจน แค่ฟังก็รู้ว่ามีอำนาจ
ชาติชาย งามสรรพ์ โกษาปาน
อายุประมาณ 30-35 ปี รูปลักษณะสง่าผ่าเผย นัยน์ตาคมกล้า บอกลักษณะมีภูมิปัญญา สำเนียงพูดชัดเจน เป็นน้องชายโกษาเหล็ก
ไชย ขุนศรีรักษา รับบท ฟานิก
หน้าตาออกเหมือนแขก กิริยาเหมือนแขก คือเหมือนลุกลี้ลุกลนนิดๆ อายุประมาณ 40 ปีกว่า
รัชนี ศิระเลิศ รับบท คุณหญิงนิ่ม
อายุประมาณ 40 ปี ถือยศถือศักดิ์ นัยน์ตาจ้องจับผู้คนแบบสำรวจตรวจตรา วาจาชัดเจน
ณฐณพ ชื่นหิรัญ รับบท ศรีปราชญ์
ร่างสันทัด อายุประมาณ 30 ปีปลาย หน้าตาออกแนวอาร์ตหน่อยๆ คือดูแล้วน่าจะเป็นคนลึกซึ้ง อารมณ์อ่อนไหว
ปวีณา ชารีฟสกุล รับบท สิปาง
แม่ของเกศสุรางค์ อายุประมาณ 50 ปี เป็นคนจิตใจดี อ่อนโยน
บรรเจิดศรี ยมาภัย รับบท คุณยายนวล
ยายของเกศสุรางค์ เป็นอดีตข้าหลวงในวังเก่า จึงได้ถ่ายทอดวิชาเย็บปักถักร้อยให้เกศสุรางค์ตั้งแต่ยังเด็ก