19 เรื่องราวและหลากหลายภาพประทับใจของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้

Alternative Textaccount_circle
event

หากให้เล่าถึงเรื่องราวความประทับใจของประชาชนชาวไทยที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 บรรยายเท่าไรก็คงไม่จบสิ้น ด้วยเพราะมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้หมด เราจึงรวบรวมบางคำบอกเล่า ที่ผู้ใกล้ชิดหลายพระองค์ และหลายคน เคยมีพระราชดำรัสหรือกล่าวถึงพระองค์ท่านไว้ มาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรำลึกถึง พ่อหลวงในดวงใจ ของคนไทยทั้งแผ่นดิน

เรื่องที่ 1

“ท่านไม่รับสั่งเรื่องที่ไปกระทบหรือใส่ร้าย หรืออะไรกับใคร ต้องคนอยู่ใกล้พระองค์นี่ถึงจะเห็น แล้วท่านทำอะไร ท่านก็ทำเองหมดเลย อย่างจะเสด็จฯ ภาคใต้นี่ท่านก็แพ็คของเอง ในการแต่งพระองค์ก็ไม่สนพระทัยเลย ขำ…เมื่อตอนท่านหนุ่มๆ บอกว่าท่านดัดผม (ทรงพระสรวล) ในหลวงดัดผม ที่แท้แม้แต่จะส่องกระจกนานๆ ก็ไม่ส่อง ไม่สนพระทัย…” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งพระราชทานวโรกาสให้นักข่าวหญิงจากสโมสรนักข่าวหญิงแห่งประเทศไทยเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2523

ในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่องที่ 2

“เราชอบถ่ายภาพพระราชินีด้วยตัวเราเอง เราไม่เคยทิ้งรูปถ่ายของเธอแม้แต่สักภาพเดียว” พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะพระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ

เรื่องที่ 3

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยมีพระราชดำรัสถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “เรื่องเสวยนี่จะเย็นจะร้อน (ในหลวง) ท่านไม่สนพระทัยเลย เอามาตั้งนี่ไม่เคยขอเลย เติมน้ำปลาไม่เคยเลย”

เรื่องที่ 4

ในหลวงทรงเล่นกีต้าร์เมื่อพระชนมายุราว 16 พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนให้ยืมเล่น ภายหลังทรงเอาไปคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย

เรื่องที่ 5

“คุณสุดหล่อ” คือหนึ่งในสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์ดัลเมเชี่ยน

เรื่องที่ 6

ครั้งน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2528 ในหลวงทรงปวดพระทันต์มาก แต่ทรงเป็นห่วงประชาชนของพระองค์มากกว่า จึงตรัสกับทันตแพทย์ที่รักษาพระอาการว่า “รอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน”

เรื่องที่ 7

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงเรื่อง แผนที่ของในหลวง ไว้ในรายการ พูดจาภาษาช่าง ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ ว่า

“แผนที่แผ่นหนึ่งของท่านค่อนข้างจะกว้างกว่าแผนที่ที่ใครๆ เห็นกันทั่วไป เพราะท่านเอาหลายๆ ระวางมาแปะติดกัน การปะแผนที่เข้าด้วยกันท่านทำอย่างพิถีพิถัน แล้วถือว่าเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว… สำนักงานของท่านคือห้องกว้างไม่มีเก้าอี้ มีพื้น แล้วท่านก้มอยู่กับพื้น แล้วกาวติดกับแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วเวลาเสด็จไปก็ต้องไปถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลายๆ คน แล้วตรวจสอบไปมาว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน…”

เรื่องที่ 8

ผู้ถวายงานในหลวงเคยเล่าไว้ว่า ตลอดเวลาที่ถวายงานไม่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วหรือดุใครเลย แล้วหากมีอะไรที่ปฏิบัติไม่ถูกพระทัยท่านจะทรงสอน

เรื่องที่ 9

“ครั้งหนึ่งผมพยายามจะแอบดูว่าพระองค์ท่านใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร จนพระองค์ท่านรู้สึกได้ว่าผมพยายามอยากจะดูยี่ห้อ ท่านจึงยื่นข้อพระหัตถ์มาให้ดูตรงหน้า จึงทราบว่าพระองค์ท่านใส่นาฬิการาคาเพียง 750 บาทเท่านั้น ซึ่งก็เดินตรงเหมือนกันกับนาฬิกาเรือนแพง แม้กระทั่งฉลองพระองค์ก็ทรงมีไม่กี่ชุด ทรงใช้จนเปื่อยซีด แต่พวกเรามักคิดว่า การมีแบบเหลือกินเหลือใช้จึงจะดี เพราะคนสมัยนี้เริ่มไม่เอาเกษตรกรรม แต่เลือกที่จะทำ ‘อุตส่าห์หากรรม’ (เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเอง แทนคำว่าอุตสาหกรรม) สุดท้ายอนาคตก็จะอดกิน” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้ในงานหนึ่ง

เรื่องที่ 10

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชั่วโมง ทรงยื่นพระหัตถ์ราว 4.7 แสนครั้ง จึงมีผู้กราบทูลให้ทรงลดลง โดยพระราชทานแค่ปริญญาโทก็พอ แต่ในหลวงรับสั่งว่า “เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาที แต่ผู้ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปีๆ และตลอดไป เปรียบกันไม่ได้เลย และที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นสำคัญมาก เพราะบางคนไม่มีโอกาสศึกษาในระดับปริญญาโทปริญญาเอกอีกแล้ว”

เรื่องที่ 11

มีเรื่องเล่าจากผู้ใกล้ชิดว่า ตอนที่พระองค์ท่านประทานพระปริญญาบัตรให้สมเด็จพระเทพฯ ทรงถามว่า “พ่อแม่เขาต้องถ่ายรูปวันที่ลูกสำเร็จการศึกษาใช่ไหม เขาไปถ่ายที่ไหนกัน พาเราไปสิ”

เรื่องที่ 12

“ภาพนี้เป็นเหตุการณ์ที่นิคมสร้างตนเองสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ขณะจะเข้าไปดูสถานที่ ผมเองได้เข้าไปสำรวจหาตำแหน่งจุดหมายมาแล้วครั้งหนึ่ง กำลังออกมาเพื่อนำเสด็จฯ พระองค์ท่านเข้าไป

เมื่อผมไปสำรวจมาแล้วเห็นว่าส่วนใหญ่ทางที่จะเดินไปเป็นป่ากก รกทึบ มีทากดูดเลือดเป็นจำนวนมาก จึงได้เตรียมตัวป้องกันโดยเอาชายขากางเกงใส่ไว้ในถุงเท้า แต่พระองค์ทรงเฉยๆ ไม่ได้เกรงแมลงสัตว์กัดต่อย หรือทากเลยสักนิด

ครั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรเห็นผมเตรียมตัวผจญทากอย่างเต็มที่ ก็เลยจัดการเตรียมแต่งพระวรกายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการนำหนังยางมาผูกชายขาพระสนับเพลา (ขากางเกง) ของพระองค์ให้กระชับ และนำชายขาพระสนับเพลาใส่ไว้ในถุงพระบาท (ถุงเท้า) เช่นเดียวกับผม”

อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้ถวายงานใกล้ชิด บอกเล่าเรื่องราวสุดประทับใจไว้ในหนังสือ ‘การทรงงานของพ่อในความทรงจำ เล่มที่ 2’

เรื่องที่ 13

4 พฤศจิกายน 2499 วันที่ 14 แห่งการผนวช เวลา 05.00-06.50 น. ได้เสด็จพระราชดำเนินออกบิณฑบาตโดยไม่มีหมายกำหนดการ โดยออกจากประตูวัดบวรนิเวศ ผ่านบางลำภู ถนนนครราชสีมา วังสวนกุหลาบ ถนนราชวิถี อนุเสาวรีชัยฯ ถนนพญาไท แยกราชเทวี-เพชรบุรี

อาหารที่ทรงบิณฑบาตได้จากประชาชนมีเครื่องในไก่ผัดขิง ผัดถั่วฝักยาว กุนเชียงผัดหอมใหญ่กับหมู เนื้อทอด ปลาสลิดเค็มทอด ปลาทูทอด ขนมครก ถั่วแปบ ขนมบ้าบิ่น ส้มเขียวหวาน กล้วยหอม กล้วยไข่ โรตี เค้ก ขนมปังปิ้งทาเนย

เรื่องที่ 14

“วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนในภาคอีสาน เด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังป่วยอยู่มารอเฝ้าฯ ด้วย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่าน เด็กน้อยกราบบังคมทูลพระกรุณาอย่างซื่อๆ และเรียบง่ายว่า ‘เป่าหัวให้ข้อยหน่อย’ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหยุด และเป่าหัวให้ แม้เด็กชายผู้นั้นจะทูลขอถึง 3 ครั้ง ก็ทรงพระกรุณาทั้ง 3 ครั้ง ก่อนที่จะให้แพทย์ที่ตามเสด็จช่วยตรวจดูอาการในภายหลัง” เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘เย็นศิระเพราะพระบริบาล’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ใกล้เบื้องพระยุคลบาท’ โดย ลัดดาซุบซิบ

เรื่องที่ 15

ทรงทำทุกอย่างตามลำดับขั้นตอนที่ควรจะเป็น ดังเช่นเรื่องเล่าของคุณดิลก ล่ามภาษามลายู ที่เคยเล่าไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พร้อมทั้งเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อยครั้งแต่เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยประชาชนที่มารอรับเสด็จ กลับไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจตรงกันได้ เนื่องจากชาวไทยมุสลิมใช้ภาษามลายูเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงรับสั่งให้นายอำเภอรือเสาะ สรรหาล่ามในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในสมัยนั้น คุณดิลก กำลังรับราชการครู และเป็นผู้เดียวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เรียนจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ทั้งยังเป็นผู้มีคุณธรรม และจิตใจดี จึงได้รับเลือกให้เป็น ล่ามประจำพระองค์ในที่สุด

ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างภาคภูมิว่า ‘วันหนึ่ง หลังจากเยี่ยมประชาชนเสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ รับสั่งกับผมว่า คุณดิลก ฉันจะชวนเธอไปเป็นล่ามให้กับพระเจ้าอยู่หัว และกับฉัน โดยตามไปที่อื่นๆ ด้วย อย่างนี้จะได้ไหม ผมก็บอกว่าได้พระพุทธเจ้าข้า แต่ต้องขอนายอำเภอก่อน’  เมื่อครูดิลก กราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไปเช่นนั้น พระองค์ทรงนิ่ง จึงทำให้ครูดิลกตกใจมาก เกรงว่าตนเองจะเผลอไผลพูดอะไรผิดไป แต่มิได้เป็นอย่างที่ครูดิลกคิด

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อทูลแจ้งเรื่องชักชวนครูดิลกไปเป็นล่ามมลายูประจำพระองค์  ‘พอพระเจ้าอยู่หัว มาถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ทูลพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัว จึงเรียกหานายอำเภอ ไม่นานนักนายอำเภอก็วิ่งมา พร้อมทำหน้าตระหนกตกใจ มือไม้สั่น เพราะนึกว่าทำอะไรผิดเข้าแล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งกับนายอำเภอว่า เราจะขอคุณดิลกไปเป็นล่าม ตามเราไปที่อื่นด้วย คุณดิลกเต็มใจจะไป แต่คุณดิลกบอกให้เราขออนุญาตนายอำเภอก่อน นายอำเภอจะอนุญาตไหม นายอำเภอตอบเสียงดังลั่นว่า อนุญาตพระพุทธเจ้าข้า’ ว่าที่ร้อยโทดิลก จำเหตุการณ์ครั้งเก่าก่อนได้ดี

เรื่องที่ 16

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากทรงพระปรีชาสามารถในทุกด้านแล้ว ยังมีพระราชหฤทัยที่เปิดกว้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ

เมื่อครั้งผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาตามพระราชดำริ อำเภอวัฒนานคร มีพระราชกระแสให้ผมทำอย่างนี้ๆ ผมก็รับด้วยเกล้าฯ มาปฏิบัติ ซึ่งในระหว่างการดำเนินงาน ก็จะมีที่ปรึกษาโครงการฯ มาบอกผมว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้ ด้วยความที่อยู่กับอุปสรรคปัญหา ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการและมุ่งมั่นที่จะให้บรรลุพระราชประสงค์ให้ได้ ก็เดินหน้าด้วยวิธีการของผมเอง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เสด็จฯ มายังพื้นที่ด้วยพระองค์เลย พอเสด็จฯ ลงจากเฮลิคอปเตอร์ ทรงรับสั่งกับผม ว่า ‘…ผู้ว่าฯ น่ะดื้อ…’ แต่หลังจากที่ผมได้กราบทูลฯ รายละเอียดของการดำเนินงานอย่างชัดเจนแล้วก็รับสั่งว่า ‘…ผู้ว่าฯ ทำถูกต้องแล้ว ทำอย่างนี้แหละ เราต้องการอย่างนี้…’ ก่อนเสด็จฯ กลับ ยังทรงห่วงใยความรู้สึกของผม ทรงปลอบใจว่า ‘…อย่าคิดมากนะ…’”

นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เล่าไว้ใน หนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย

เรื่องที่ 17

นี่คือภาพส่วนหนึ่งของลายพระหัตถ์ที่ทรงจดงาน มีความเรียบร้อยและเป็นระเบียบมาก

เรื่องที่ 18

“หลายคนอาจลืมว่าใน 1 ปี พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ 4 เดือน ที่เหลือประทับอยู่ต่างจังหวัด เสด็จฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ สกลนคร ไกลกังวล และนราธิวาสแห่งละ 2 เดือน ซึ่งไม่ใช่เสด็จฯ แปรพระราชฐานเพื่อตากอากาศ แต่เป็น 8 เดือนที่เหนื่อยยากที่สุด เพราะจะเสด็จฯ ไปในพื้นที่ที่คนไม่ไปกัน เนื่องจากทุรกันดารลำบากสุดๆ

ขณะที่การประทับที่กรุงเทพฯ ก็ทรงงานจนมีโครงการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนมากมาย กระทั่งทรงพระประชวรก็ยังทรงห่วงประชาชน “อย่างช่วงเย็นวันหนึ่งที่ต้องถวายเข้ารับการผ่าตัด ก็มีรับสั่งให้ผมที่ถวายงานด้านน้ำและไอที นำจอคอมพิวเตอร์มาติดตั้งข้างเตียง เพื่อทอดพระเนตรก่อนถวายการผ่าตัด รับสั่งว่า มีพายุตรงมหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนเข้าชายฝั่งเวียดนาม และอาจเข้ามาที่ไทยด้วย ฉะนั้นไม่เพียงพระราชทานโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อคนไทย แต่พระองค์ยังพระราชทานพระวรกายให้พวกเราด้วย”

ตอนหนึ่งใน ปาฐกถา “ในหลวงแห่งแผ่นดิน” ที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวไว้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช

เรื่องที่ 19

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังกล่าวอีกว่า ตนมีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2559 ถือเป็น 35 ปีแห่งการเรียนรู้ ที่พระองค์เป็นดั่งพระบรมครู คอยสอนทุกอย่าง โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านมีรับสั่งกับตนว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรให้ นอกจากความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น” ซึ่งเป็นประโยคที่ ดร.สุเมธ ยึดมั่นทำงานมาตลอด

“พระองค์มีรับสั่งสุดท้ายกับผมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ว่า สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ งานก่อประโยชน์เพื่อแผ่นดินไม่มีวันหมด ผมก็นำมาคิดถึงเรื่องพระมหาชนกที่ต้องว่ายน้ำเอาชีวิตรอด แม้อาจไม่เห็นฝั่งแต่ก็ต้องว่ายต่อไป ก็เหมือนกับงานก่อประโยชน์ให้แผ่นดินที่ต้องทำต่อไปไม่มีวันหยุด ฉะนั้นในวันที่พระองค์จากไปแล้ว หน้าที่ดูแลแผ่นดินต่อไป คือลูกๆ หากยังมีเรี่ยวแรง ยังมีชีวิต งานไม่มีวันเสร็จ ซึ่งงานในที่นี้คือการทำหน้าที่ของตัวเองด้วยคุณธรรม นั่นคือสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่าอยากทำดีเพื่อพ่อ ก็ต้องถามต่อว่าแล้ววันนี้ทำอะไรไปแล้ว ก็ฝากถึงประชาชน” ดร.สุเมธกล่าว

 

ภาพและข้อมูลจาก : www.thairath.co.th   http://www.matichon.co.th  www.facebook.com/welovethaiking

เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :

10 เรื่องราวประทับใจของ แม่แห่งแผ่นดิน พระคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หาดูยาก อยากให้คนไทยได้ดู

เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์

10 คนดังกับ คำสอนของพ่อ ส่งต่อแรงบันดาลใจในชีวิต

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up