ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ามีคนมากมายที่สภาพจิตใจย่ำแย่ บ้างก็เข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้า และยิ่งถ้าปล่อยไว้อาจเกิดผลเสียในระยะยาว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราจึงมีวิธี ฟื้นฟูสุขภาพจิต มาแนะนำให้ลองทำตามกัน เผื่อว่าจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นและส่งผลให้ร่างกายดีขึ้นด้วย
5 วิธี ฟื้นฟูสุขภาพจิต
1. จดลงในสมุดบันทึก – การได้ระบายความรู้สึกแย่ๆ ลงในกระดาษจะทำให้รู้สึกดีขึ้น เหมือนเราได้คุยกับตัวเอง อยากเขียน อยากระบายอะไรก็เขียนลงไปเลย มีผลการศึกษาพบว่า การเขียนสิ่งที่กำลังเป็นทุกข์ออกไปถือได้ว่าเป็นการช่วยชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตใจ และยิ่งถ้าเขียนในเวลากลางคืน จะยิ่งทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่หลังจากที่เขียนระบายไปหมด อย่าลืมทิ้งกระดาษพวกนั้นทันทีนะ เพราะถ้าเอากลับมาอ่านอีกอาจจะทำให้รู้สึกแย่ก็ได้
2. เดินทางท่องเที่ยว – มีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่เวลารู้สึกเศร้าจะหาทางออกด้วยการออกไปท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และพบกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และผลลัพธ์ก็คือ ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ทัศนคติและการใช้ชีวิต อีกทั้งการได้วางแผนท่องเที่ยวจะทำให้จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่น่าสนใจใหม่ๆ เช่น อาจจะพบเจอสถานที่ที่ไม่เคยไป และทำให้มีความสุขขึ้น
3. หยุดเสพสื่อออนไลน์ – ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อคนสมัยนี้มากๆ และสิ่งนี้มีทั้งประโยชน์และโทษในคราวเดียวกัน การเสพข่าวมากๆ อาจทำให้รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า และเครียดโดยไม่รู้ตัว และในเหตุการณ์ปกติทั่วไป สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คนี่แหละ เป็นสื่อที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า และเกิดการเปรียบเทียบทางสังคม เช่น สมมติว่าเราเห็นคนอวดอะไรลงเฟซบุ๊ค เราก็จะรู้สึกได้ต่างๆ นานา เช่น หมั่นไส้ อิจฉา ฯลฯ บางทีก็เกิดดราม่าเอาง่ายๆ ทางที่ดี ถ้าอยากฟื้นฟูจิตใจ ปลีกตัวจากสื่อออนไลน์สักพักดีกว่า
4. พูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับสุขภาพจิต – คนที่อยู่นอกสถานการณ์มักจะเป็นผู้รับฟังที่ดีเสมอ และจะมีปฏิกิริยาเห็นอกเห็นใจ ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้น หรือถ้าไม่อยากพูดคุยเรื่องนี้ ให้หาเพื่อนที่รู้ใจสักคนไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อคลายความเครียด การอยู่กับตัวเองมากเกินไป โดยไม่ให้ใครมารับรู้ความเครียดและความกดดันข้างในจิตใจ อาจทำให้ท้ายที่สุดแล้วมันระเบิดออกมา จนเกินจะเยียวยาแก้ไข
5. พูดคุยและขอคำแนะนำจากแพทย์ – อย่าคิดว่าการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์จะทำให้คุณดูเหมือนผู้ป่วยทางจิต เพราะจิตแพทย์จะมีแนวทาง และคำปรึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะที่คุณกำลังเป็นอยู่ และสามารถคัดกรองเพื่อเยียวยารักษาต่อไปได้ (บางคนมีอาการขั้นรุนแรงจนต้องได้รับการบำบัด) หากลองเยียวยาตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์จะดีที่สุด
ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพจาก : www.freeimages.com , www.pixabay.com และ Pinterest : MyDomaine
เรื่องราวดีๆ