บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ ฉากพระราชพิธีถวายพระราชสาส์นอลังการสมจริง

Alternative Textaccount_circle
event

เรื่องราวสนุก น่าติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความเข้มข้นทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน สำหรับ “บุพเพสันนิวาส” และอีกหนึ่งฉากที่ บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ จนประทับใจคนดู และถูกพูดถึงกันอย่างมากก็คือ ฉากที่ เชอวาลีเย เดอ โชมงต์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกว่าผู้ชมที่ได้ดูต่างก็รู้สึกขนลุกกับความอลังการ สมจริงในละครเป็นอย่างมาก

บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์  ฉากพระราชพิธีถวายพระราชสาส์นอลังการสมจริง

ฉากประวัติศาสตร์ในตำนานที่ถูกพูดถึงอย่างมากนั้น ได้แก่ ฉาก “เสด็จออกรับสาส์นราชทูตกรุงฝรั่งเศส” เมื่อเชอวาลิเย เดอ โชมงต์ ได้ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของไทย ก็ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามเนื่องจากเห็นว่าไม่สมเกียรติในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์โดยตรงตามอย่างธรรมเนียมยุโรป จึงได้ขอร้องให้ราชสำนักอยุธยาจัดขุนนางมาทำความตกลงเรื่องพระราชพิธี เพื่อให้เป็นที่สมเกียรติทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้ (Constance Phaulkon) ขุนนางชาวกรีกซึ่งเป็นที่โปรดปราน ในเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระฤทธิคำแหงภักดี” เป็นผู้ทำความตกลงกับฝรั่งเศส

บุพเพสันนิวาส
ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง ในบทขุนหลวงนารายณ์ บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์
ละครบุพเพสันนิวาส
บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ ประหนึ่งเดินออกมาจากในหนังสือ

ภารกิจของเชอวาลิเย เดอ โชมงต์ ที่ได้รับมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และมีบาทหลวงมาด้วยนั้น นอกจากส่งพระราชสาส์น ก็เพื่อชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อให้การเจรจาทำสัญญาทางการค้าสำคัญหลายฉบับเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น

แต่การนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ขุนหลวงนารายณ์ ได้รับสั่งปฏิเสธอย่างนุ่มนวลและฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทรงตอบรับแต่ก็ไม่ปิดโอกาส ตรัสเสียงเรียบ นุ่ม แต่จริงจังชัดเจน ว่า

“ทุกศาสนาสอนให้คนทำความดี เกรงบาป บำเพ็ญบุญ พระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองคนมีศาสนา มิว่าจะเป็นศาสนาใด ย่อมปกครองง่ายกว่าคนมิมีศาสนา ขอท่านบาทหลวงทุกท่านสอนศาสนาให้เต็มที่ อย่าได้เกรงอะไร เราไม่กีดขวางราษฎรของเราที่จะเลื่อมใสในศาสนาใด สำหรับตัวของเรายังไม่รู้แน่ชัด ว่าศาสนาคริสต์นั้นเป็นอย่างไร เราจะขอศึกษาก่อน ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสผู้ทรงพระปรีชาญาณได้รับทราบว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินจะเปลี่ยนศาสนาที่เคยนับถือกันมาสองพันกว่าปีนั้น เป็นเรื่องยากลำบากยิ่งนัก แต่…ก็มิใช่เรื่องสุดวิสัย”


หลังจากนั้น เชอร์วาเลีย เดอ โชมองต์ ได้ออกเดินทางกลับฝรั่งเศส ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๒๕๓ ณ กรุงปารีส (อ้างอิง:ภาพประกอบจากละครบุพเพสันนิวาส /ข้อมูลจากเพจโบราณนานมา)

ฉากสำคัญ บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ ฉากนี้ มีตัวละครสำคัญคือ ขุนหลวงนารายณ์ รับบทโดย ปราบต์ปฎดล สุวรรณบาง และ ฟอลคอน รับบทโดย หลุยส์ สก๊อต

บุพเพสันนิวาส
อีกหนึ่งภาพอลังการสมจริง บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์

ด้วยตัวละครมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ไทย ประจวบกับที่บทประพันธ์ และบทโทรทัศน์ ร้อยเรียงประวัติศาสตร์มาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จึงเกิดปรากฎการณ์ บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ ทำให้คนรุ่นใหม่ และผู้ชมที่ติดตามละครเรื่องนี้มีความสนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณสหถาน มากขึ้น สุดสัปดาห์ จึงขออนุญาตแชร์บทความ เพื่อเป็นความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระราชสาส์น โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากเพจเฟซบุ๊ค วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ดังนี้

พระราชพิธีถวายพระราชสาส์น สัญลักษณ์การต่อรองทางอำนาจระหว่างไทย-ฝรั่งเศส

การติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่พบมากเป็นพิเศษในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาติตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในการเมืองไทยมากที่สุดในสมัยนั้นคือฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

เหตุผลหนึ่งมาจากบริษัทอินเดียตะวันออกดัตช์ (Vereenigde Oost-Indische Compagnie; VOC) ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ให้การสนับสนุนอยู่ จนมีอำนาจในการสร้างกองทัพเรือ การผลิตเงินตรา หรือการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศได้ด้วยตนเอง และได้รับอภิสิทธิ์ในการผู้ขาดทางการค้าเครื่องเทศในแถบชวา และโมลุกกะ จนสามารถขึ้นมามีอิทธิพลทางทะเลเหนือโปรตุเกส และสเปน ซึ่งเคยมีอำนาจอยู่ก่อนในแถบนี้

บริษัทอินเดียตะวันออกดัตช์ได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้าต่างๆ จากราชสำนักอยุธยามาก่อนหน้านั้นนานแล้ว โดยปรากฏว่า ได้ผูกขาดการค้าหนังกวางสำหรับส่งไปขายที่ญี่ปุ่น และได้สิทธิผูกขาดในการซื้อดีบุกจากนครศรีธรรมราช แต่ภายหลังเกิดกรณีพิพาทกับกรุงศรีอยุธยาในเรื่องการค้าขายทางทะเลกับเมืองจีนและญี่ปุ่น ใน พ.ศ.๒๒๐๗ ดัตช์จึงยกกองทัพเรือเข้ามาปิดปากน้ำ และบีบให้สยามยอมทำสัญญาว่า จะไม่ค้าขายแข่งกับเนเธอร์แลนด์อีก นอกจากนี้ดัตช์ยังได้ยึดเมืองบันตัมในอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๗ ก็ให้เกิดความวิตกกังวลว่า ดัตช์จะลุกลามมาตีหัวเมืองของอยุธยาไปด้วย

นอกจากนี้ ราชสำนักอยุธยาก็เกิดกรณีพิพาทกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company; EIC) เนื่องจากลูกจ้างของบริษัทต้องการจะแยกตัวออกมาทำการค้าอิสระ ราชสำนักอยุธยาก็ให้การสนับสนุน โดยให้ชาวอังกฤษเหล่านั้นมารับราชการเดินเรือของอยุธยา แลกกับการอนุญาตให้ชาวอังกฤษเหล่านั้นสามารถฝากสินค้าของคนไปในเรือหลวงเพื่อค้าขายได้ จึงมีชาวอังกฤษจำนวนมากที่แยกตัวออกมา ซึ่งก็ทำให้บริษัทอังกฤษไม่พอใจ

สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงหันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปในเวลานั้น เพื่อเป็นการคานอำนาจของเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษแทน สันนิษฐานว่าเพราะฝรั่งเศสในเวลานั้นเป็นศัตรูของเนเธอร์แลนด์ในเรื่องของการค้า และเรื่องของศาสนา เนื่องจากฝรั่งเศสนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเป็นคริสตศาสนูปถัมภกของนิกายนี้ และกีดกันศาสนาคริสต์นิกายอื่นอย่างรุนแรง ในขณะที่เนเธอร์แลนด์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท

ฝรั่งเศสเองก็เล็งเห็นประโยชน์ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย เนื่องจากพบว่า มีมิชชันนารีฝรั่งเศสไปเผยแผ่ศาสนากรุงศรีอยุธยา แล้วพบว่ามีเสรีภาพในการนับถือและเผยแผ่ศาสนาสูง ผิดจากชาติอื่นในแถบนี้ และมิชชันนารีฝรั่งเศสก็ได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างดี ฝรั่งเศสจึงมองเห็นประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนาให้กว้างขวางออกไป และมีความมุ่งหวังจะชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงนับถือศาสนาคริสต์ตามด้วย

อีกประการหนึ่ง ฝรั่งเศสเห็นว่า เนเธอร์แลนด์ทำการค้าได้กำไรมหาศาลในภูมิภาคนี้ จึงได้ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสขึ้นมาบ้าง เพื่อทำการแข่งขันทางการค้า เมื่อทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานพวกมิชชันนารี จึงเกิดเป็นช่องทางให้ติดต่อเข้ามายังราชสำนักอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และฝรั่งเศสเองก็มีความต้องการเมืองท่าสำคัญของไทย อย่างบางกอกหรือมะริด ไว้เป็นที่ตั้งสถานีการค้าเช่นเดียวกั

จึงปรากฏได้ว่ามีความพยายามที่จะส่งคณะทูตเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน และในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงแต่งคณะทูตชุดแรกมายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๒๒๘

ผู้นำคณะเป็นผู้บังคับการทหารเรือนามว่า อาแล็กซ็องดร์ เดอ โชมงต์ (Alexandre de Chaumont) ขุนนางบรรดาศักดิ์เชอวาลิเยร์ (Chevalier เทียบเท่า Knight หรืออัศวิน) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ (Ambassadeur Extraordinaire) ผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

อย่างไรก็ตามเกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องพระราชพิธีรับราชทูตในครั้งนี้ ซึ่งเกิดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติต่อตัวราชทูตระหว่างสองชาตินั้นแตกต่างกัน

ตามธรรมเนียมตะวันตกถือว่าราชทูตเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มีสิทธิขาดอำนาจเต็มในการเจรจาดำเนินการต่างองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งตัวโชมงต์ได้รับโปรดเกล้าให้มีสถานะดังกล่าว

แต่ธรรมเนียมไทยนั้นถือว่า สิ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์คือพระราชสาส์น ส่วนตัวราชทูตนั้นเป็นเพียงผู้ที่อัญเชิญพระราชสาส์นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจใดๆ

และคงเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ปกติคณะทูตไม่ว่าจะมาจากชาติใดๆ เมื่อได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมไทย คือต้องหมอบคลานและกราบถวายบังคม ไม่เว้นแม้แต่ราชทูตจากอาณาจักรใหญ่อย่างจีน เปอร์เซีย หรือโมกุล

เชอวาลิเย เดอ โชมงต์ ได้ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของไทยก็ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตาม เนื่องจากเห็นว่าไม่สมเกียรติ เพราะตนเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงได้ขอร้องให้ราชสำนักอยุธยา จัดขุนนางมาทำความตกลงเรื่องพระราชพิธี เพื่อให้เป็นที่สมเกียรติทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constans Phaulkon) ขุนนางชาวกรีก ซึ่งเป็นที่โปรดปราน ในเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระฤทธิกำแหงภักดี” เป็นผู้ทำความตกลงกับฝรั่งเศส

สมเด็จพระนารายณ์เอง ทรงมีพระราชประสงค์จะยกย่องคณะทูตฝรั่งเศสให้เหนือกว่าชาติอื่นอยู่ก่อนแล้ว โดยในจดหมายเหตุของบาทหลวงตาชารด์ (Guy Tachard) ได้ระบุว่า

“พระองค์ทรงเคยประกาศต่อธารกำนัลแล้วว่า ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะใช้ขนบธรรมเนียมอันเก่าแก่ดังที่เคยต้อนรับราชทูตประเทศโมกุล ประเทศเปอร์เซีย และประเทศจีน และพระองค์โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราชทูตแห่งประเทศฝรั่งเศส คาดกระบี่เข้าไปในพระบรมราชวังได้ และให้นั่งตัวตรงในที่เฝ้าได้ อันไม่เคยโปรดอนุญาตให้แก่ราชทูตคนใดมาแต่ก่อนเลย”

พระอธิการโบสถ์ เดอ ชัวซีย์ (François Timoléon, abbé de Choisy) บาทหลวงในคณะทูต ซึ่งติดตามมาเพื่ออัญเชิญให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้ารีต ก็ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงเรียกประชุมขุนนางในวันที่ ๑๓ ตุลาคม โดยให้ฟอลคอนเป็นผู้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งมาแจ้งว่า ในเรื่องการจัดการใดๆ ที่เป็นพิเศษล้วนเนื่องมาจากพระองค์ ต้องการให้เกียรติคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ อย่างเต็มที่

เหตุที่ทรงเรียกประชุมนี้เนื่องจาก “…มีผู้กล่าวว่ามีอยู่บางคนที่บ่นอุบอิบ และทำกระบิดกระบวนที่จะออกไปต้อนรับท่านราชทูต โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่เคยได้ทำการต้อนรับถึงขนาดนี้แก่เอกอัครราชทูตของพระเจ้าจักรพรรดิจีน หรือของพระเจ้าโมกุล หรือของพระเจ้ากรุงเปอร์เซียเลย และตามที่เคยปฏิบัติกันมานนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเคยออกไปต้อนรับราชทูตห่างไกลจากพระนครถึงสามในสี่ลิเออเช่นนี้ และขุนนางที่ออกไปแสดงความยินดีต้อนรับเล่า ก็เป็นเพียงขุนนางชั้นรองๆ เท่านั้น แต่นี่กลับต้องไปรับกันถึงที่เรือจอดอยู่ ซึ่งห่างจากในกรุงตั้งสี่สิบลิเออ แล้วยังต้องสร้างเรือนพักรับรองเฉพาะ และตกแต่งด้วยเครื่องเรือนอย่างหรูหราอีกด้วย ป้อมปืนก็ต้องยิงสลุต ต้องตั้งซุ้มรับตามหมู่บ้านรายทาง เรือนพักของราชทูตก็ต้องทาด้วยสีแดง และต้องนั่งอยู่ยามตามไฟกันรอบบริเวณ และต้องรัวระฆังกันเป็นวรรคเป็นเวรอีกเล่า ส่วนเป็นเกียรติที่สงวนไว้ปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น”

การให้การต้อนรับคณะทูตอย่างให้เกียรติเป็นพิเศษแบบนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน สันนิษฐานว่ามีนัยยะเพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับฝรั่งเศสประการหนึ่ง และหวังผลประโยชน์จากการเจริญสัมพันธไมตรีประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะหวังผลประโยชน์เรื่องการคานอำนาจของดัตช์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากเรื่องความเคารพ โชมงต์ยังได้เจรจาในเรื่องการเข้าเฝ้าของขุนนางผู้มีตระกูล ชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะทูตมาด้วย ซึ่งเดิมเห็นควรว่า ถ้าจะเข้าเฝ้าก็ต้องให้หมอบคลานตามธรรมเนียมไทย หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ให้เข้าเฝ้าเลย แต่โชมงต์เอง ยืนยันให้ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าเฝ้าพร้อมกัน (โดยไม่ต้องหมอบคลาน)

เรื่องนี้ทำให้ฟอลคอนลำบากใจ เพราะโดยปกติแล้วไม่เคยมีการผ่อนผัน แม้แต่ราชทูตจากตังเกี๋ยและญวน ยังต้องหมอบคลานขึ้นบันได และหมอบเฝ้าหน้าที่ประทับ แต่โชมงต์ยืนยันไม่ยอม และกล่าวแถมท้ายด้วยว่า ถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถเข้าเฝ้าได้ สุดท้ายจึงต้องรอมชอมกัน ให้ขุนนางฝรั่งเศสเหล่านี้ไม่ยืนอยู่หน้าที่ประทับ แต่ให้เข้าไปนั่งรอในท้องพระโรงก่อนจะเสด็จออก โดยให้นั่งบนพรมที่เตรียมไว้ ซึ่งเมื่อนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์แล้วก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตตามนั้น

ในเรื่องการถวายพระราชสาส์น เดิมฟอลคอนตั้งใจว่าจะอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ลงเรือพระที่นั่ง จากนั้นแล้วจึงมอบให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่โชมงต์ไม่ยอมเด็ดขาด และต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์โดยตรง ตามอย่างธรรมเนียมยุโรป ซึ่งฟอลคอนก็ตกลงตามนั้น โดยให้พระอธิการ เดอ ชัวซีย์ เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นได้เข้าเฝ้าพร้อมราชทูตด้วย

นอกจากนี้ เพราะสมเด็จพระนารายณ์จะประทับในที่สูง ฟอลคอนจึงเสนอให้ใช้พานมีด้ามจับถวายพระราชสาส์น แต่ทางฝรั่งเศสไม่ยอม ได้เรียกร้องให้ลดพระราชบัลลังก์ที่ประทับลงมา หรือทำยกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อให้ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ ซึ่งฟอลคอนเองได้ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามนั้น นับได้ว่าทางอยุธยายอมโอนอ่อนตามคำเรียกร้องของราชทูตฝรั่งเศสแทบทุกประการ

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๒๘ คณะทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น ต่อสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ และชาวฝรั่งเศสทั้งปวงได้รับเกียรติให้สวมหมวกและรองเท้าเวลาเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่งเศส และมีเก้าอี้ให้โชมงต์ได้นั่งรอ

บุพเพสันนิวาส

แต่เมื่อโชมงต์ได้เข้าเฝ้าแล้ว กลับพบว่าฟอลคอนผิดสัญญาที่ให้ไว้ เพราะสมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่บนสีหบัญชรที่สูงมาก จนไม่สามารถถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ และฟอลคอนกลับเอาพาน ซึ่งมีด้ามจับยาวสามฟุตมาให้โชมงต์วางพระราชสาส์นสำหรับชูถวายขึ้นไปแทน (ซึ่งไม่ทราบชัดเจนว่าเหตุใดฟอลคอนถึงไม่ทำตามข้อตกลง แต่เป็นไปได้ว่าราชสำนักอยุธยาพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถยอมทำตามข้อเรียกร้องของโชมงต์ได้ เลยให้ใช้พานตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก)

โชมงต์ได้บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ในจดหมายเหตุ Relation de l’ambassade de Monsieur le chevalier de Chaumont à la Cour du Roy de Siam, avec ce qui s’est passé de plus remarquable durant son voyage ของเขาว่า

“ข้าพเจ้ามีความแปลกใจที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินสยามประทับอยู่บนพระที่นั่งยกชั้นสูง ด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี [ฟอลคอน-ผู้เขียน] ได้สัญญายอมไว้กับข้าพเจ้า ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จออกบนพระที่นั่งที่ยกชั้นมิให้สูงกว่าชั่วสูงของคน แลพระราชสาส์นนั้น ควรจะได้ถวายต่อพระหัตถ์ เหตุดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ว่ากับบาทหลวงแอปเบเดอชวยซีว่า คำที่สัญญาให้ข้าพเจ้านั้นได้ลืมเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าคงจะตั้งใจโดยแท้ที่จะถวายพระราชสาส์นกับด้วยมือของข้าพเจ้าเอง พานทองซึ่งใส่พระราชสาส์นนั้น มีที่จับใหญ่ยาวกว่า ๓ ฟิต ด้วยเขาคิดว่าข้าพเจ้าจะจับปลายที่มือจับยกพานชูขึ้นไปให้สูงถึงพระที่นั่ง แต่ข้าพเจ้าได้ตั้งใจในทันทีนั้น จะถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์เอง”

ตัวโชมงต์เองก็ไม่ใช่คนยอมใครง่ายๆ เมื่อเขาได้ถวายคำกราบบังคมทูลเสร็จแล้ว จึงนำพระราชสาส์นใส่พานเพื่อทูลเกล้าถวาย แต่ตัวโชมงต์กลับไม่ยอมชูพานนั้นขึ้นไปสุดแขน ด้วยเห็นว่าไม่สมเกียรติ เพราะเขาต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ใกล้ที่สุด (ตามที่บาทหลวงตาชารด์อ้าง) เขาจึงประสงค์จะให้สมเด็จพระนารายณ์น้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับ แม้ฟอลคอนที่หมอบอยู่จะพยายามบอกให้ยื่นพานขึ้นไป โชมงต์ก็ไม่สนใจ

เรื่องนี้โชมงต์ได้บันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้เชิญพระราชสาส์น จากมือบาทหลวงแอปเบเดอ ชวยซี คิดจะถวายดังเช่นข้าพเจ้าได้พูดตกลงไว้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี ซึ่งไปเฝ้าด้วยข้าพเจ้าคลานเข้าไปด้วยมือกับเข่า เรียกข้าพเจ้าแล้วบุ้ยชี้ให้ข้าพเจ้ายกแขนเชิญพระราชสาส์นขึ้นให้ถึงพระเจ้าแผ่นดิน แต่ข้าพเจ้าทำเป็นไม่ได้ยินนิ่งเสีย”

บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ Journal du voyage de Siam fait en 1685 et 1686 ว่า

“ท่านราชทูตได้กระซิบบอกข้าพเจ้าว่า “ผมจะถวายพระราชสาส์นได้แต่ด้วยวิธีใช้ด้ามต่อส่งขึ้นไปเท่านั้น แต่ผมไม่ยอมทำเช่นนั้นเป็นอันขาด” ข้าพเจ้าขอสารภาพว่าข้าพเจ้ามีความลำบากใจมากทีเดียว ไม่ทราบจะแนะนำท่านไปประการใดจึงจะสมควร ข้าพเจ้านึกว่าจะยกเก้าอี้ที่นั่งของท่านราชทูตไปตั้งให้ชิดกับแนวพระราชบัลลังก์ เพื่อให้ท่านก้าวขึ้นไปยืน หากในทันใดที่ท่านกล่าวคำกราบบังคมทูลจบลง ท่านก็ตกลงใจเสียแล้ว คือเดินตรงเข้าไปหน้าพระราชบัลลังก์อย่างองอาจ โดยถือพานพระราชสาส์นติดมือไปด้วย แล้วถวายพระราชสาส์นต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยมิได้ชูศอกขึ้นเลย ดังกับว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ต่ำเสมอกับตัวท่านฉะนั้น มร.ก็องสตังซ์ (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) ซึ่งหมอบอยู่กับพื้นท้องพระโรงเบื้องหลังเรา ร้องบอกท่านราชทูตว่า “ชูขึ้นไปซิ ชูขึ้นไป” แต่ท่านราชทูตก็หาชูแขนขึ้นไม่”

บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์
บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ เหมือนจริงจนหลายคนขนลุก


อย่างไรก็ตาม หลักฐานฝรั่งเศสหลายชิ้นระบุตรงกันว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงน้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับพระราชสาส์น โดยทรงพระสรวล (หัวเราะ) และทรงนำพระราชสาส์นนั้นจบเหนือเศียรเกล้าเป็นการให้เกียรติ หลังจากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับราชทูตแล้วจึงเป็นอันเสร็จพิธี

บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) ซึ่งได้เข้าเฝ้าในวันนั้นบันทึกไว้ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินสยามประทับ ณ สีหบัญชร ที่สูงมาก การจะยื่นพระราชสาสน์ถวายให้ถึงพระองค์ท่านนั้น จำเป็นต้องจับคันพานที่ปลายด้าม และชูแขนขึ้นสูงมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นว่าการถวายพระราชสาสน์ในระยะห่างมากนั้นเป็นการไม่สมเกียรติ โดยควรที่จะถวายให้ใกล้พระองค์มากที่สุด ราชทูตจึงจับพานที่ตอนบน และยื่นขึ้นไปเพียงครึ่งแขนแค่นั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบความประสงค์เหตุใดราชทูตจึงกระทำเช่นนั้น จึงทรงลุกขึ้นยืนพร้อมกับแย้มพระสรวล และทรงก้มพระองค์ออกมานอกสีหบัญชรเพื่อรับพระราชสาสน์ตรงกึ่งกลางทาง แล้วทรงนำพระราชสาสน์นั้นจบเหนือเศียรเกล้า อันเป็นการถวายพระเกียรติให้เป็นพิเศษ”

เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง (Claude, chevalier de Forbin) นายทหารชาวฝรั่งเศสที่ติดตามมาพร้อมคณะทูต และอยู่ในท้องพระโรงวันนั้นก็บันทึกไว้ใน Voyage du comte de Forbin à Siam ว่า (อ้างจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘๐ แก้การสะกดคำเป็นปัจจุบัน)

“ท่านราชทูตเดินเข้าไปจนใกล้สีหบัญชร และยื่นพระราชสาส์นขึ้นไปเพื่อทรงรับพระราชสาส์น พระนารายณ์มหาราชต้องทรงเอื้้อมพระหัตถ์ก้มพระองค์ออกมานอกสีหบัญชรเกือบครึ่งพระองค์ ที่ท่านราชทูตถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์เช่นนั้น คงแกล้งทำด้วยความตั้งไจ หรือ เห็นว่าคันทองที่จะทูนพานพระราชสาส์นขึ้นไปนั้นยาวไม่พอ”

บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ได้บันทึกไว้ว่า “พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ให้ลดพระราชบัลลังก์ที่ประทับให้ต่ำลงมา หรือเสริมแท่นยกพื้นให้สูงขึ้นไปอีก และได้ทรงตัดสินพระทัยไว้ล่วงหน้าแล้วในกรณีที่ท่านราชทูตจะมิชูพระราชสาส์นถวายไปจนถึงช่องสีหบัญชร ด้วยการน้อมพระองค์ลงมารับเสียเอง พระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามดั่งนี้ทำให้ข้าพเจ้าเนื้อตัวเย็นเยือกไปด้วยความปีติ”

ถ้าข้อความที่ชัวซีย์กล่าวเป็นจริงก็แสดงให้เห็นว่าทางราชสำนักไทย (สมเด็จพระนารายณ์) เองก็แสดงออกว่า ไม่ต้องการปฏิบัติตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องไปทุกประการ แต่อย่างไรก็ตาม เชอวาลิเย เดอ โชมงต์ก็สามารถ ‘บีบ’ ให้สมเด็จพระนารายณ์ออกมารับพระราชสาส์นตามที่ตนเองต้องการได้

ส่วนเรื่องที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์จะทรงเต็มพระทัยแค่ไหนที่จะน้อมพระองค์ลงมาก็ยากที่จะกล่าวได้ แต่ต่อให้ทรงเต็มพระทัยที่ทำเช่นนั้น ก็น่าเชื่อว่า ในหมู่ข้าราชการกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ รวมไปถึงตัวฟอลคอนเอง คงไม่พอใจกับการกระทำของราชทูตฝรั่งเศสนัก

จึงปรากฏว่าในการรับคณะทูตฝรั่งเศสชุดที่ ๒ ที่นำโดย ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) และโคล้ด เซเบเรต์ (Claude Céberet du Boullay) เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ ทางคณะทูตฝรั่งเศสได้ระบุว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการจัดการต่างๆ เหมือนครั้งคณะทูตของโชมงต์ แม้ว่าลาลูแบร์ จะมีฐานะทางการทูตต่ำกว่าโชมงต์ คือเป็นเพียงทูตพิเศษ (Envoy Extraordinaire) ซึ่งฟอลคอนไม่ค่อยเต็มใจจนเกิดการวิวาทกัน แต่สุดท้ายก็ตกลงกันยอมตามที่ฝรั่งเศสร้องขอ

แต่ทางอยุธยาซึ่งมีออกพระวิสุทธสุนธร (ปาน) ราชทูตผู้ไปฝรั่งเศสเป็นผู้แทนเจรจา (ซึ่งฟอลคอนเป็นผู้สั่งการมาอีกต่อหนึ่ง) ก็ได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการยืนยันด้วยว่า คณะทูตชุดต่อๆ ไปจะได้รับเกียรติยศไม่สูงไปกว่าคณะทูตชุดโชมงต์ พร้อมทั้งให้ราชทูตเซ็นชื่อและประทับตรากำกับเป็นหลักฐาน

ต่อมาออกพระวิสุทธสุนธรก็ได้แจ้งกับราชทูตฝรั่งเศสอีกว่า พระยาพระคลังต้องการให้คณะทูตฝรั่งเศสเขียนจดหมายอีกฉบับเพื่อรับรองว่า ถ้าต่อไปในภายหน้าพระเจ้ากรุงสยามจะทรงแต่งทูตไปยังประเทศฝรั่งเศสบ้าง ก็ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพระราชทานเกียรติยศให้คณะทูตไทย เสมอกับที่ไทยได้ให้กับคณะทูตฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน

แสดงว่าในคราวนี้ราชสำนักอยุธยาเองก็พยายามใช้อำนาจในการเจรจาต่อรองให้ได้รับสิทธิที่เสมอกัน

ในพระราชพิธีถวายพระราชสาส์นคราวนี้ยอมให้ลาลูแบร์ได้ถวายพระราชสาส์นถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์โดยตรง โดยทำบันไดสามขั้นหน้าสีหบัญชรสำหรับให้ราชทูตเดินขึ้นไป แต่ต้องแลกกับการที่คณะทูตต้องถอดหมวกเวลาเข้าเฝ้า ซึ่งการกระทำเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงน้อมพระองค์ลงมาอีก

ราชทูตเซเบเรต์ได้บันทึกไว้ว่า

“…มองซิเออร์คอนซตันซ์ ก็ได้พูดว่า ทำอย่างไร ๆ ก็จะได้จัดการให้เราได้ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ โดยจะได้จัดทำคั่นบันไดขึ้น ๓ คั่น เพื่อเราจะได้เดินขึ้นไปให้ถึงพระแท่นที่ประทับได้ และจะได้จัดการให้เราได้มี โอกาสกราบทูลการต่าง ๆ ต่อพระเจ้ากรุงสยามได้

ที่มองซิเออร์ดูบรูอังได้เล่าเช่นนี้ ก็ทำให้แลเห็นได้ว่า การที่มองซิเออร์คอนซตันซ์ได้อาสาจะเป็นคนกลางเกลี่ยไกล่ในเรื่องนี้นั้นจะมีผลอย่างไร เพราะเมื่อครั้งเชอวาเลียเดอโชมอง ถวายพระราชสาส์นนั้น เชอวาเลียเดอโชมองได้เดินแต้มเอาให้พระเจ้ากรุงสยามต้องก้มพระองค์ ลงมารับพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจนได้ มองซิเออร์คอนซตันซ์จึงได้คิดป้องกันมิให้เป็นเช่นนั้นในคราวนี้อีก โดยจัดให้มีคั่นบันได ๓ คั่นพอที่เราจะได้เดินขึ้นไป ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ พระเจ้ากรุงสยามจะได้ไม่ต้องก้มพระองค์ลงมารับ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะเลย เพราะฉะนั้น การที่มองซิเออร์คอนซตันซ์อุบายรับอาสาจะเป็นคนกลางให้นั้น ก็โดยคิดจะเอาบุญเอาคุณแก่เรา เราจะได้เห็นว่า มองซิเออร์คอนซตันซ์ ได้กรุณาแก่เราที่สุด และการที่ยอมให้เราก้าวบันไดขึ้นไปถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์นั้น ก็มีการแลกเปลี่ยนที่บังคับให้เราถอดหมวกในเวลาที่เรากราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม”

จะเห็นได้ว่าแม้อาจจะมีการประนีประนอมในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ทั้งสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างก็มีข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดต่อ “เกียรติยศ” ของราชสำนักของตนเองเท่าที่สามารถทำได้ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องรายละเอียดที่ดูยิบย่อย อย่างการสวมหมวก

ซึ่งถ้าจะเรียกการเจรจาต่อรองในเรื่องพระราชพิธีถวายพระราชสาส์นนี้  เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจต่อรองทางการทูต ระหว่างอาณาจักรอยุธยาและฝรั่งเศสก็คงจะไม่ผิดจากความจริงนัก

ภาพประกอบ : ภาพพิมพ์แกะไม้ชื่อ Ambassade française à la cour du Roi de Siam ผลงานของผลงานของ ฌ็อง-บัพตัสต์ โนแล็ง (Jean-Baptiste Nolin) แสดงเหตุการณ์วันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๖๘๖ ที่เชอวาลิเย เดอ โชมงต์ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์ที่น้อมพระองค์ลงมาจากสีหบัญชร โดยมีคอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constans Phaulkon) หมอบอยู่เบื้องล่าง ชี้นิ้วบอกให้โชมงต์ชูพานขึ้นไป

เบื้องหลังโชมงต์คือพระอธิการ เดอ ชัวซีย์ ส่วนบาทหลวงอีกคนที่อยู่มุมขวาสุดคือบิชอปแห่งเมเตลโลโปลิส (Évêque de Métellopolis) ชื่อจริงว่า หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ผู้แทนพระองค์พระสันตะปาปาและประมุขมิสซังแห่งสยาม ที่มาภาพ http://gallica.bnf.fr/ark:/12148/btv1b8406479p/f1.item.r=siam

 

ฉากนี้เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในโลกโซเชียล พาให้ใครต่อใครอยากรู้ อยากซึมซับประวัติศาสตร์ชาติไทยมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี และน่าส่งเสริมอย่างยิ่ง ขอบอกว่า ณ ตอนนี้ทีมงานสุดฯ ทุกคนต่างตั้งตารอว่า จะมีฉากปรากฎการณ์ บุพเพสันนิวาส ตามรอยประวัติศาสตร์ ฉากไหนอีกบ้าง มาติดตามไปด้วยกันเถิดหนา ออเจ้า

เรียบเรียง Miss Jee / Photo: broadcastthaitv

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจ FB: วิพากษ์ประวัติศาสตร์  และ IG:  khunchaiyod9t

 

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up