คำไทยโบราณจาก ละครบุพเพสันนิวาส รู้ไว้จะได้อิน

Alternative Textaccount_circle
event

ใครๆก็ติดละครดังเรื่องนี้กันงอมแงม ออเจ้าต่างก็เร่งวันเร่งคืนให้ถึงวันพุธ – พฤหัส ไม่เพียงแต่จะได้ความสนุก ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังแฝงความรู้เรื่องภาษาไทย วลี คำไทยโบราณต่างๆ บางคำไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไร สุดฯ เลยรวม คำไทยโบราณจาก ละครบุพเพสันนิวาส พร้อมความหมายไว้ให้ได้รู้ เวลาดูละครจะได้ยิ่งอินนะเจ้าคะ

รวม คำไทยโบราณ จาก ละครบุพเพสันนิวาส

1 ออเจ้า
หมายถึง เจ้า หรือ เธอ หรือคุณ สรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนคนที่เราพูดด้วย โดยมากมักเรียกคนที่อายุน้อยกว่า อาวุโสน้อยกว่า เป็นคำโบราณสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบอกไว้อยู่ในจดหมายเหตุลาบูแบร์ซึ่งเป็นบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาในอยุธยาสมัยนั้น

คำไทยโบราณจาก ละครบุพเพสันนิวาส

2. เว็จ
หมายถึง ที่ถ่ายอุจจาระ หนักเบาสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นส้วมหลุมนั่งยองๆ มีไม้หรือหินพาดรองไม่ให้หลุมถล่ม มักใช้กันเฉพาะคนในสังคมชั้นสูง

เว็จ หรือ ห้องส้วมสมัยก่อน

3. แชเชือน
ยกตัวอย่าง พูดแชเชือน ก็คือ การพูดแบบเถลไถล ไม่ตรงไปตรงมา

4. วิปลาส
หมายถึง ความรู้เห็นที่คลาดเคลื่อนหรือความรู้เข้าใจอันผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส เป็นต้น

5. เพลาชาย
หมายถึง ช่วงเวลาบ่ายโมง

6. โดนเอ็ด
หมายถึง โดนว่า โดนตำหนิ

คุณหมื่น เอ็ดแม่หญิงการะเกด เอ็ดหรือแร็พ เจ้าคะ รัวเป็นชุดเลย

7. ลางที
หมายถึง บางที, บางครั้ง

๘. ฟะรังคี
หมายถึง ฝรั่ง หรือชาวต่างชาติ

คอนสแตนติน ฟอลคอน พ่อค้าชาวกรีก ที่ได้เป็นขุนนางในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

คำไทยโบราณจาก ละครบุพเพสันนิวาส ยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจ ยิ่งสนุกเวลาดูนะเจ้าค่ะ

9. น้ำมันครั่ง
หมายถึง ที่นำมาจากแมลงจำพวกเพลี้ยหลายชนิดที่อยู่ในวงศ์ Kerridae ตัวครั่งจะขับสารชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนยาง หรือชันออกมาไว้ป้องกันตัวเองจากศัตรู ซึ่งสารที่ขับถ่ายออกมานี้เรียกว่า “ครั่งดิบ” ตามชื่อเรียก สารนี้มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์กันมานานกว่า 4,๐๐๐ปี แล้วในหลายอารยธรรม โดยใช้เป็นสมุนไพร เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง , โรคลมขัดข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการทำเชลแล็ก, แลกเกอร์, เครื่องใช้, เครื่องประดับต่าง ๆ, ย้อมสีผ้า สีโลหะ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนใช้ประทับในการไปรษณีย์ขนส่ง หรือตราประทับเอกสารทางราชการใด ๆ ปัจจุบันครั่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศ อาทิ อินเดีย , ไทย มีการเลี้ยงในเชิงเกษตร ซึ่งมีราคาขายที่แพงมาก

10. คำว่า 5 บาท 10 บาท (ที่ใช้กับเวลา)
คำไทยโบราณจาก ละครบุพเพสันนิวาส รู้ไว้จะได้อิน คำนี้ ไม่ได้หมายถึง ค่าเงินแต่อย่างไร คำว่า 5 บาท คือ ครึ่งชั่วโมง และ 10 บาท คือ 1 ชั่วโมง ดังนั้น 1 บาทจึงเท่ากับ 6 นาที

11. ชม้อย ชะม้าย ชายตา
หมายถึง ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เอียงอาย ส่งสายตาโปรยเสน่ห์ (อ้างอิง:ข้อมูลจากเพจรักสยามหนังสือเก่า /คำอธิบายศัพท์ จากวิกิพีเดีย)

ความชม้อย ชะม้าย ชายตา ของแม่หญิงการะเกด ช่างน่าเอ็นดูยิ่งนัก

12.ออกญา

คือ “บรรดาศักดิ์” ไม่ใช่ “ศักดินา” ซึ่งปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นระบบซี หรือระดับชั้น ที่นี้ต้องอธิบายว่า แต่เดิม “บรรดาศักดิ์” ของอยุธยารับธรรมเนียมต่างๆ มาจากราชสำนักขอม ซึ่งได้มาจากการตีขอมพระนคร และกวาดต้อนนักปราชญ์ราชบัณฑิตมารับราชการในราชสำนักอยุธยา จึงทำให้มีบรรดาศักดิ์ ชั้นต่างๆ และมักมีคำว่า “ออก” นำหน้า เช่น ออกหลวง ออกพระ ออกญา เป็นต้น ต่อมาจึงได้ปรับใหม่ พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา และสมเด็จเจ้าพระยา

ออกญา หรือ พระยา เป็น “บรรดาศักดิ์” ของข้าราชการระดับหัวหน้าหน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น หัวหน้ากรม หัวหน้ากระทรวง หรือ แม่ทัพ เป็นต้น โดยชั้นพระยา/ออกญา ก็มีฐานะแตกต่างกัน โดยมี “ศักดินา” เป็นเครื่องกำกับ เช่นเดียวคำว่า “เลขาธิการ” ที่มีทั้งซี 10 คือเทียบเท่าอธิบดี หรือ ซี 11 คือเท่าปลัดกระทรวง

ออกญาโหราธิบดี / พระโหราทายหนู

13. แม่หญิง

แปลว่า ผู้หญิง เช่น ประโยคที่การะเกดพูดว่าก่อนจะล่มเรือแม่หญิงจันทร์วาด  “แม่หญิงใดแย่งคุณพี่ไป กูไม่ปล่อยไว้แน่” ซึ่งก็แปลว่า ผู้หญิงคนไหนแย่งคุณพี่หมื่นไป นางจะไม่ปล่อยไว้

หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 2 หมายถึง คุณ ท่าน เธอ ใช้แทนคนที่เราพูดด้วยที่เป็นผู้หญิง เช่น แม่หญิงต้องการสิ่งใด ก็เหมือนพูดว่า คุณต้องการอะไร

14. แม่นาย

หมายถึง เจ้านายฝ่ายหญิง เป็นสรรพนามโบราณ ที่บ่าวจะใช้เรียกเจ้านายที่เป็นผู้หญิง เราจะได้ยิน พี่ผิน กับพี่แย้ม พูดคำนี้กับ แม่หญิงการะเกดตลอดทั้งเรื่อง

15. เทื้อคาเรือน

ใช้กับหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ถึงแม้ว่าจะถึงวัยที่ต้องแต่งงานแล้ว ถ้าเป็นสมัยนี้ก็จะพูดกันว่า ขึ้นคาน

16. ม้ากระทืบโรง

หมายถึง กิริยาที่ไม่เรียบร้อย ประมาณม้าดีดกระโหลก เช่นตอน คุณหญิงจำปาดุแม่หญิงการะเกดตอนเดินไม่เรียบร้อยว่า “เดินเหมือนม้ากระทืบโรง” ก็คือเดินไม่เรียบร้อยเอาเสียเลย

Text: AuAi Photo ch3thailand

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้ จากตัวละครมีตัวตนใน ละครบุพเพสันนิวาส

เสิร์ฟเรื่องย่อ บุพเพสันนิวาส อย่างละเอียด พร้อมภาพเบื้องหลัง คลิก!

รวมทรงผมของสาวๆ ใน ละคร บุพเพสันนิวาส ใครทำทรงไหน? ทำไมต้องไม่เหมือนกัน?

ลูกดารา ยิ่งโตยิ่งหล่อ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่หวงมั้ยนะ

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up