สตรอว์เบอร์รี่ไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

Alternative Textaccount_circle
event

หลายคนชอบกินสตรอว์เบอร์รี่ แต่ต้องเป็นสตรอว์เบอร์รี่จากต่างประเทศเท่านั้น เพราะมีรสชาติหวานหอมกว่า แต่ถ้าศึกษากันให้ลึกจริงๆ สตรอว์เบอร์รี่ไทย ที่ถูกพัฒนาจนสามารถขึ้นห้างขายแข่งกับต่างประเทศนั้นก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานทั้งนั้น

 

สตรอว์เบอร์รี่ไทย พันธุ์พระราชทาน

 

แรกเริ่มเดิมที อย่างที่เราทราบกันว่าชาวบ้านทางภาคเหนือปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวเป็นการทดแทน โดยเริ่มจากการปลูกลิ้นจี่ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนับสนุนให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ โดยนำสายพันธุ์มาจากประเทศต่างๆ ซึ่งหลังจากที่ชาวบ้านทดลองปลูก กลับพบว่ารายได้ดี เลยยึดเป็นอาชีพมาจนปัจจุบัน

สตรอว์เบอร์รี่ไทย

สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานมีหลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือพันธุ์ 80 เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น พันธุ์ Royal Queen เหตุที่ใช้ชื่อพันธุ์ 80 นี้เนื่องจากได้พระราชทานมาเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และได้พัฒนาเพื่อการอุตสาหกรรมอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2552

สตรอว์เบอร์รี่ไทย

สตรอว์เบอร์รี่พระราชทานพันธุ์ 80 นั้นเป็นพันธุ์ที่ต้องการอากาศหนาวมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ต้องปลูกในพื้นที่สูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 16-20 องศาเซลเซียสไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่ง “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” จะเป็นพื้นที่ปลูกได้ผลดี จุดเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ผลใหญ่ สีสด เนื้อแน่น รสชาติหวาน (หากเจอผลใหญ่แต่รสชาติเปรี้ยว แปลว่าเก็บมาตั้งแต่ยังไม่สุกดี เพื่อเผื่อระยะเวลาเดินทาง หากอยากชิมผลสุกหวานหอมของจริง แนะนำให้ไปชิมด้วยตัวเองที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สักครั้ง)

สตรอว์เบอร์รี่ไทย

และล่าสุดโครงการหลวงยังทำการวิจัยพันธุ์ใหม่ เป็นพันธุ์พระราชทาน 88 (ได้รับพระราชทานตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีพระชนมายุได้ 88 พรรษา และเป็นพันธุ์พระราชทานพันธุ์สุดท้ายในรัชสมัย) ซึ่งสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 88 นี้เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ 60 ที่ทนทานต่อดินฟ้าอากาศได้มากกว่า กับพันธุ์ 80 ที่ให้ผลใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหอมหวาน ซึ่งหากวิจัยสำเร็จ เชื่อว่าสายพันธุ์นี้จะพรีเมียมสู้สตรอว์เบอร์รี่จากเกาหลีและญี่ปุ่นได้เลยทีเดียว

ข้อมูลจาก หนังสือ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”, www.manager.co.th , th.wikipedia.org และ www.matichon.co.th
ภาพประกอบจาก หนังสือ “สตรอว์เบอร์รี่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
TEXT : Ploychompoo

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

อาหารพระราชทาน เพื่อผู้ป่วย จากน้ำพระทัยถึงปวงชน

5 ผลิตภัณฑ์เด็ดจาก โครงการหลวง ที่ใครๆ ก็ยกนิ้วให้

แอ่วเหนือสูดลมหนาวที่ “มูลนิธิโครงการหลวง”

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up