ความสุขในชีวิต

9 คำสอนของพ่อ : ความสุขในชีวิต

Alternative Textaccount_circle
event
ความสุขในชีวิต
ความสุขในชีวิต

นอกจากมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังทรงปรารถนาให้ประชาชนมีความสุข เราจึงขอรวบรวมพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่อง ความสุขในชีวิต เพื่อให้ได้นำไปปฏิบัติตามกัน

9 คำสอนของพ่อ : ความสุขในชีวิต

 

ความสุขด้านกาย

“…กายที่มีสุขภาพดีก็หมายความว่ากายที่แข็งแรง ที่เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ มีกำลัง มีทุกอย่าง รวมทั้งมีความคิดที่ดี ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดีก็มีกำลัง เป็นกำลังที่จะแผ่ความเมตตาให้แก่คนอื่น มีกำลังที่จะคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวและความเจริญรุ่งเรืองในสังคม…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520)

 

“…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลังหรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้นจะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523)

 

“…คนเราถ้ามีอนามัยแข็งแรง มีจิตใจที่ร่าเริง ก็สามารถที่จะทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูง ถ้าหากว่าทำงานเคร่งเครียด ไม่มีความหย่อนใจบ้าง หรือไม่มีการปฏิบัติเล่นกีฬา ก็จะไม่สามารถที่จะทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลดีต่อส่วนรวม…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่สมุหราชองครักษ์ นำข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกรมตำรวจ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายเรือใบ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2530)

ความสุขในชีวิต

 

ความสุขด้านจิตใจ

“…ความสบายใจของคนเป็นของที่หายาก คนเราต้องมีความสบายใจ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นได้…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “๕ ธันวาวันมหาราช” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2521)

 

“…สุขภาพจิตและสุขภาพกายนั้น พูดได้ว่าสุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไหนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจฟั่นเฟือน ไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็จะยุ่งกันได้ กายที่แข็งแรงนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรง แต่สุขภาพจิตดี หมายความว่าจิตใจดี รู้จักจิตใจของตัว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิตที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายได้ หรือถ้าสุขภาพกายไม่ดีนักก็ไม่ต้องถือว่า เป็นของสำคัญ…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520)

 

“…การฝึกหัดทางใจนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด จำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ฝึกฝนอยู่เสมอตลอดชีวิต จึงจะคงความสุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบไว้ได้ ไม่พ่ายแพ้แก่ความลุ่มหลงลืมตัว…”

(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2516) 

ความสุขในชีวิต

 

ความสุขของการอยู่ร่วมกัน

“…ในชีวิตทุกวันๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน ก็หาความรู้ แล้วมีโอกาสที่จะได้เห็นชีวิตของตัวเองและของคนอื่น ขอให้ถือว่าเป็นอาหารทั้งนั้น เป็นอาหารสมอง และเมื่อได้รับอาหารแล้ว ให้ไปพิจารณา คือไปไตร่ตรอง ไปคิดให้ดี ถ้าทำเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะสามารถที่จะสร้างตัวเองให้แข็งแรง เพื่อที่จะทำประโยชน์แก่ตนเอง สร้างบ้านเมือง สร้างท้องที่ของตัว สร้างตนเองให้เจริญตามที่ทุกคนต้องการ…”

(กระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะเยาวชนชายหญิงจากถิ่นทุรกันดาร ในเขตปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ต่างๆ รวม ๒๔ จังหวัด พร้อมด้วยพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2516)

 

“…ถ้าเราแผ่เมตตาให้คนอื่นหรือมีปรารถนาดีต่อผู้อื่น เข้าใจว่าคนนั้น หรือบุคคลอื่นจะรู้สึก ต้องรู้สึกว่ามีปรารถนาดีต่อผู้อื่นต่อบุคคลนั้นขึ้นในใจ ของเราก็ต้องรู้สึกว่ามีคนอื่นมาปรารถนาดีต่อเรา ฉะนั้นเป็นการยืนยันว่า การปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ผู้อื่นปรารถนาดีต่อเรา และปรารถนาดีต่อเราอันนี้เองที่เป็นความสุข…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้นำลูกเสือชาวบ้านกรุงเทพมหานคร ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2521)

 

“…ในภาษาทุกภาษาก็ต้องมีคำว่า เมตตา คือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มองคนอื่นในทางที่จะช่วยเหลือเขา มากกว่าที่จะไปแย่งชิงเขา ทุกภาษาทุกศาสนาก็มีจิตใจนี้ หรือวิธีการนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทำต่อไปด้วยความแน่วแน่ และด้วยความสุจริตใจ จะเป็นทางที่จะช่วยส่วนรวมให้อยู่เย็นเป็นสุข…”

(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2518)

ความสุขในชีวิต

 

ที่มา : หนังสือ “คำพ่อสอน”, ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพจาก Pinterest : 541993 NP , Nadia Dapper

 

เรื่องน่าสนใจอื่นๆ

รวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่เราไม่ค่อยได้เห็น…จากแหล่งต่างๆ

รวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่เราไม่ค่อยได้เห็น (Part 2)

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up