พระปรีชาสามารถในด้าน ศิลปะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

Alternative Textaccount_circle
event

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพใน ศิลปะ ด้านต่างๆ จนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

ศิลปะ ด้านต่างๆ อาทิ

 

ด้านจิตรกรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2480-2484 ทรงฝึกเขียนภาพจากตำราที่ทรงซื้อและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์งานเขียนของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี

ภายหลังที่เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ในปีพุทธศักราช 2502 ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ในระยะแรกๆ พระองค์ทรงเขียนภาพเหมือนจากพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ ผู้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท และมีภาพผลงานหลายชิ้นที่ทรงเขียนภาพหุ่นนิ่งและภาพทิวทัศน์บ้าง แต่โดยสรุปแล้ว ภาพคนจะเป็นแนวหลักของการทรงงานจิตรกรรม

ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์เองว่า ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือทรงวาดตามพระราชหฤทัยจะนึกวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์ท่านออกมาจากจินตนาการของพระองค์เอง ฉะนั้นเมื่อได้เห็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ก็จะเห็นชัดแจ้งถึงลักษณะที่เป็นอิสระเฉพาะตัว

ศิลปะ

 

ด้านประติมากรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วยพระองค์เอง ทั้งการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ์

อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม และเคยเป็นประติมากรที่ทำงานถวาย ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีรับสั่งถึงการทำงานและเทคนิควิธีการของการทำแม่พิมพ์การปั้น และทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงกระบวนการและขั้นตอนของงานทางด้านนี้เป็นอย่างดี โดยทรงศึกษาจากหนังสือทางด้านศิลปะและทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง

งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต มี 2 ชิ้นคือ รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว ทั้ง 2 ชิ้นทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน ต่อมาอาจารย์ไพฑูรย์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์

ศิลปะ

 

ด้านการถ่ายภาพ

ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนทรงเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่เป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพถ่ายสถานที่ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร เป็นต้น

ศิลปะ

 

ด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์

พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์จะเห็นได้จากผลงานพระราชนิพนธ์ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงทั้งความสนพระราชหฤทัยในเรื่องต่างๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดเรื่องนั้นๆ ออกมาเป็นตัวอักษร พระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ พระราชานุกิจรัชการที่ ๘ พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต นอกจากนี้ ยังมีบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอีกจำนวน ๑๐ บทความ และผลงานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่กล่าวขานอย่างที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง พระมหาชนก

ศิลปะ

 

ข้อมูลจาก : positioningmag.com , www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com

ภาพจาก : haiku.bloggang.com , www.softbizplus.com , koykoykoykoy.blogspot.com , pantip.com , king11111.tripod.com , siamsilkroad.blogspot.com , www.coolswop.com และ 9poto.com

 

อ่านเรื่องน่าสนใจเพิ่มเติม

รวม 40 เรื่องราว-400+ พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์

รวมพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ในหลวง ร.9 จาก บ้านและสวนแฟร์

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up